โดย สมาพร คล้ายวิเชียร

พระโพธิสัตว์ศรีอารยเมตไตรย
พระโพธิสัตว์ศรีอารยเมตไตรย

 

     เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๐๗ มีการขุดพบ ปฏิมากรรมสำริด ศิลปะเขมรสมัยก่อนเมือง พระนครเป็นจำนวนถึง ๓๐๐ องค์ ในกรุภายใต้ ปราสาทเขมรสมัยพระนครองค์หนึ่งที่อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรัมย์ ปฏิมากรรมที่พบส่วนใหญ่เป็นพระโพธิสัตว์ แต่บางส่วนเป็นพระพุทธรูป กล่าวกันว่า ปฏิมากรรมเหล่านี้ ถูกนำออกไปต่างประเทศเป็นจำนวนมาก

     ต่อมาในปีพุทธศักราช ๒๕๑๔ นายเสนอ นาคินทรชาติ ได้ขุดพบปฏิมากรรมสำริดจำนวน ๓ องค์ เป็นพระพุทธรูป ๑ องค์ พระโพธิสัตว์ ๒ องค์ที่บ้านฝ้าย อำเภอหนองหงส์ (แต่เดิมอยู่ในเขต อำเภอลำปลายมาศ) จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งก่อนหน้านั้นได้ขุดพบพระพุทธรูปศิลา ๒ องค์ องค์หนึ่งเป็นพระพุทธรูปนาคปรก ส่วนอีกองค์หนึ่งเป็นพระพุทธรูปปางเสด็จลงจากดาวดึงส์

     จากการศึกษารูปแบบของปฏิมากรรมที่พบทั้ง ๒ แห่ง คือที่อำเภอประโคนชัย และที่อำเภอหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์ พบว่ามีรูปแบบที่คล้ายคลึงกับปฏิมากรรมพบที่เมืองศรีเทพ อำเภอศรีเทพจังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าสถานที่ที่พบปฏิมากรรมดังกล่าว มีความสัมพันธ์เกี่ยวโยงกันอย่างแน่นนอน

     ลักษณะของปฏิมากรรมทั้ง ๓ แห่ง คือ ที่อำเภอประโคนชัย อำเภอหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์ และที่อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

     ๑. ปฏิมากรรมสำริด พบที่อำเภอประโคนชัย มีทั้งพระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์ ตามรายงานกล่าวว่า มีจำนวนกว่า ๓๐๐ องค์ ที่สำคัญมีรายละเอียด ดังนี้

         ๑.๑ พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร สำริดประทับยืนตริภังค์ สูง ๖๘.๗ เซนติเมตร อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๓ มี ๔ กร พระหัตถ์ขวาคงถือวัตถุที่ถอดออกได้ พระหัตถ์ซ้ายถือคณโฑทรงผมเกล้ามวยแบบชฎามงกุฏ

 

พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร
พระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร

 

         ๑.๒ พระโพธิสัตว์ศรีอารยเมต-ไตรยสำริด สูง ๙๗.๖ เซนติเมตร อายุประมาณต้นพุทธศตวรรษที่ ๑๔ มี ๔ กร พระกรหน้าทั้งสองข้างยื่นออกไปข้างหน้า พระหัตถ์แสดงท่าคล้ายวิตรรก-มุทรา พระกรซ้ายด้านหลังยกขึ้นทำท่าคล้ายถือสิ่งของ พระเศียรแบบชฎามงกุฏ บั้นพระองค์มีเข็มขัดเส้นเล็กๆ คาดอยู่ และผูกชายเป็นโบว์เล็กๆ ห้อยอยู่ด้านหน้า ปัจจุบันเป็นสมบัติของนายร๊อกกี้เฟลเลอร์ (J.D. Rockefeller)

 

พระโพธิสัตวศรีอาริยเมตไตรย
พระโพธิสัตวศรีอาริยเมตไตรย

 

         ๑.๓ พระพุทธรูปสำริดประทับยืนในท่าแสดงธรรมหรือวิตรรกมุทรา สูง ๙๘.๑ เซนติเมตร ศิลปะแบบทวาราวดีมีจำนวนหลายองค์ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีลักษณะดังนี้ คือ พระกรทั้งสองยื่นออกไปข้างหน้าในท่าแสดงธรรม หรือ วิตรรกมุทรา พระเมารีเป็น รูปกรวย เม็ดพระศกเป็นรูปก้นหอยเล็กๆ พระขนงโกงต่อกันคล้ายปีกกา ห่มจีวรคลุมบางแนบพระองค์มีลักษณะของความเป็นท้องถิ่นอย่างชัดเจน

 

พระพุทธรูปสำริด
พระพุทธรูปสำริด

     ๒. ปฏิมากรรมสำริด พบที่บ้านฝ้าย อำเภอหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นที่ทราบกันดีว่า บ้านฝ้ายเป็นชุมชนโบราณ ซึ่งได้มีการขุดพบโบราณวัตถุ ๒ ครั้ง ครั้งแรกพบพระพุทธรูปศิลา ๒ องค์ ต่อมาได้ขุดพบพระพุทธรูปสำริด ๑ องค์ และพระโพธิสัตว์สำริด ๒ องค์ แต่ละองค์มีรายละเอียดดังนี้

         ๒.๑ พระพุทธรูปที่ขุดพบครั้งแรก

               ๒.๑.๑ พระพุทธรูป ศิลาปางนาคปรกสูง ๑๐๕ เซนติเมตร สลักเป็นภาพนูนสูงเหนือแผ่นหลัง ศิลปะแบบทวาราวดีที่ยังรักษาอิทธิพลศิลปะอินเดียแบบอมราวดี อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๒-๑๓ (สุภัทรดิศ ดิศกุล อ้างถึงใน ฉวีวรรณ วิริยะบุศย์, ๒๕๑๖ :๒๙-๓๐) ปัจจุบันอยู่ที่วัดหินดาด อำเภอห้วยแถลง จังหวัดนครราชสีมา

พระพุทธรูปศิลาปางนาคปรก
พระพุทธรูปศิลาปางนาคปรก

 

               ๒.๑.๒ พระพุทธรูปศิลาปางเสด็จลงจากดาวดึงส์ สูง ๑๑๔ เซนติเมตร ศิลปะแบบทวาราวดี แต่ไม่มีรายงานว่าปัจจุบัน พระพุทธรูปองค์นี้อยู่ที่ไหน (ศิลปากร อ้างถึงใน ฉวีวรรณ วิริยะบุศย์, ๒๕๑๖:๓๐)

         ๒.๒ พระพุทธรูปและพระ โพธิสัตว์ ที่ขุดพบครั้งที่ ๒ เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๑๔

               ๒.๒.๑ พระพุทธรูปยืนสำริด สูง ๑๑๐ เซนติเมตร พระกรทั้งสองยื่นออกไปข้างหน้า พระหัตถ์ขวาอยู่ในท่าแสดงธรรมหรือวิตรรกมุทรา พระกรซ้ายนิ้วพระหัตถ์ชำรุด พระเมารีเป็นรูปกรวย เม็ดพระศกเป็นรูปก้นหอยเล็กๆ พระขนงโก่งต่อกันคล้ายปีกกามีอุณาโลมอยู่ตรงกลางพระนาฏ ห่มจีวรคลุมบางแนบพระองค์ ส่วนที่ชำรุดและซ่อมแล้วคือพระเศียรหักตรงพระศอ พระอังสา พระหัตถ์ซ้ายและข้อพระบาทด้านหลังมีรอยซ่อมด้วยปูน

 

พระพุทธรูปสำริด
พระพุทธรูปสำริด
 

               ๒.๒.๒ พระโพธิสัตว์สำริดประทับยืนในท่าสัมภังค์ สูง ๑๓๗ เซนติเมตร มี ๔ กร พระกรหน้าทั้งสองข้างยื่นออกไปข้างหน้า พระหัตถ์ขวาแสดงท่าคล้ายวิตรรกมุทรา พระกรซ้ายด้านหลังยกขึ้นทำท่าคล้ายถือสิ่งของ ส่วนพระกรขวาด้านหลังหักตรงข้อศอก พระเศียร แบบชฎามงกุฏ บั้นพระองค์มีเข็มขัดเส้นเล็กๆ คาดอยู่และผูกชายเป็นโบว์เล็กๆ ห้อยอยู่ด้านหน้า พระบาทหักตรงข้อเท้าหล่อติดกับฐานสี่เหลี่ยมแบนๆ (ฉวีวรรณ วิริยะบุศย์, ๒๕๑๖:๒๑)

พระโพธิสัตว์
พระโพธิสัตว์

               ๒.๒.๓ พระโพธิสัตว์ สำริด ประทับยืนในท่าตริภังค์ สูง ๔๗ เซนติเมตร มี ๒ กร พระกรหักตรงข้อศอก พระซงฆ์หักตรง พระชานุ พระเศียรแบบชฎามงกุฏ ทรงภูษาสั้นมี เข็มขัดเส้นเล็กๆ คาดทับอยู่บนพระโสณี (สะโพก) และผูกชายเป็นโบว์ที่ด้านหน้า ชายผ้าห้อยอยู่ทาง ด้านขวาและริ้วชายผ้าปรากฏเป็นเส้นบางๆ

พระโพธิสัตว์ศรีอาริยเมตไตรย
พระโพธิสัตว์ศรีอาริยเมตไตรย

 

     ๓. ปฏิมากรรมที่เมืองศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ เมืองศรีเทพเป็นเมืองโบราณขนาดใหญ่ ที่พบศิลปวัตถุอันล้ำค่ามากมาย ทั้งพระพุทธรูป พระโพธิสัตว์ และเทวรูป ลักษณะของปฏิมากรรมที่พบในเมืองศรีเทพมีดังนี้

         ๓.๑ พระพุทธรูปประทับยืน สูง ๒๒๓.๕๒ เซนติเมตร ศิลปแบบทวาราวดี สลักพระอุณาโลมเจาะเป็นรูเข้าไปในพระนาฏ พระขนงและพระเนตรสลักเป็นรอยลึก สันนิษฐานว่าคงมีการฝังเพชรหรือโลหะลงไป ปัจจุบันเป็นสมบัติของพิพิธภัณฑ์นอร์ตัน ไซมอน เมืองปาซาดีนา รัฐแคลีฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา (ศรีศักร วัลลิโภดม, ๒๕๓๒:๕๖)

 

พระพุทธรูปศิลา
พระพุทธรูปศิลา

 

         ๓.๒ แผ่นทองสลักลายดุลพระโพธิสัตว์ ศรีอาริยเมตไตรย สูง ๕.๐๘ เซนติเมตร ศิลปแบบทวาราวดี ประทับนั่งขัดสมาธิเพชรอยู่เหนือดอกบัว พระหัตถ์ขวาอาจถือดอกบัวตูม และพระหัตถ์ซ้ายอาจถือหม้อน้ำมนต์ ปัจจุบันเป็นสมบัติของพิพิธภัณฑ์นอร์ตัน ไซมอน เมือง ปาซาดีนา รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา (ศรีศักร วัลลิโภดม, ๒๕๓๒:๕๖)

         ๓.๓ เศียรพระพุทธรูป และพระโพธิสัตว์ศิลาศิลปแบบทวาราวดี

     จากการศึกษารูปแบบของปฏิมากรรม ซึ่งมีทั้งพระพุทธรูปแบบหินยานและพระโพธิสัตว์แบบมหายาน พบที่อำเภอประโคนชัย อำเภอหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์ และพบที่เมืองศรีเทพ อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ มีประเด็นที่น่าสนใจ ดังนี้

     อำเภอประโคนชัย และ อำเภอหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์ เป็นชุมชนโบราณที่นับถือศาสนาพุทธแบบมหายาน ในวัฒนธรรมเขมร ส่วนเมืองศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ เดิมเป็นชุมชนโบราณที่นับถือศาสนาพุทธแบบหินยาน ในวัฒนธรรมทวาราวดี การพบพระพุทธรูปและพระโพธิสัตว์ ในชุมชน ทั้ง ๓ แห่ง คือ ๒ แห่งแรก อยู่ใกล้เคียงกันภาคอีสานตอนใต้ ส่วนแห่งที่ ๓ อยู่ห่างไกล ออกไปทางภาคกลางตอนบน ได้แสดงให้เห็นว่า มีการแพร่กระจายวัฒนธรรมแบบทวาราวดีลงมาในชุมชนวัฒนธรรมเขมร ทางภาคอีสานตอนใต้ ในขณะเดียวกันก็มีการแพร่กระจายวัฒนธรรมเขมรสู่ชุมชนทวาราวดีทางภาคกลางตอนเหนือของประเทศไทย ด้วยเหตุผลสำคัญ ๒ ประการ ดังนี้

     ประการแรก พระเจ้าภวรวรมันและพระเจ้ามเหนทราวรมัน (เจ้าชายจิตรเสน) แห่งอาณาจักรเจนละในช่วงพุทธศตวรรษที่ ๑๒ นอกจากจะมีอำนาจครอบคลุมดินแดนลุ่มแม่น้ำโขง และแม่น้ำมูลแล้ว พระองค์ยังทรงแผ่อิทธิพลเข้าไปยังเมืองศรีเทพในลุ่มแม่น้ำป่าสักด้วย ปรากฏหลักฐานจารึกแสดงการแผ่อำนาจ และการสร้างศิวลึงค์ของพระเจ้าภววรมัน ในเมืองศรีเทพ (ศรีศักร วัลลิโภดม, ๒๕๒๑ : ๓๙)

     ประการที่สอง จากหลักฐานทางโบราณคดี พบว่า ในจังหวัดบุรีรัมย์นั้น มีแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ และแหล่งโบราณคดีที่มีคูน้ำคันดินล้อมรอบ มีทั้งชุมชนวัฒนธรรมแบบทวาราวดีและชุมชนวัฒนธรรมเขมร การพบพระพุทธรูป และพระโพธิสัตว์ที่บ้านฝ้าย อำเภอหนองหงส์ จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็นชุมชนโบราณที่มีคูน้ำล้อม ๒ ชั้น คันดิน ๓ ชั้น แสดงให้เห็น ถึงการผสมผสานกันของวัฒนธรรมทวาราวดีและวัฒนธรรมเขมร

     ตัวอย่างที่ปรากฏชัดเจนของการผสมผสานทางวัฒนธรรมระหว่างวัฒนธรรมทวาราวดีและวัฒนธรรมเขมรอีกอย่างหนึ่ง ได้แก่ ภาพสลักบนใบเสมาที่เขาอังคาร อำเภอนางรอง ซึ่งอยู่ห่างจากปราสาทหินพนมรุ้งไปทางทิศตะวันตก ประมาณ ๑๐ กิโลเมตร เป็นใบเสมาโบราณทำด้วยหินภูเขาไฟ แกะสลักทั้งภาพสถูป ภาพธรรมจักร และภาพเล่าเรื่อง อันเป็นลักษณะที่พบได้ทั่วไปในวัฒนธรรมทวาราวดีในภูมิภาคนี้ แต่สิ่งที่น่าสนใจของใบเสมาเขาอังคารก็คือ ภาพสลักบุคคลซึ่งมีลักษณะของวัฒนธรรมทวาราวดี แต่การนุ่งผ้ากลับมีลักษณะของวัฒนธรรมเขมร แสดงถึงการผสมผสานกันระหว่างวัฒนธรรมทั้งสอง (กรมศิลปากร, ๒๕๔๐:๑๙) ส่วนที่เมืองศรีเทพ ซึ่งเดิมเป็นชุมชนที่มีวัฒนธรรมทวาราวดี การพบปฏิมากรรมรูป พระโพธิสัตว์ เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงการแพร่กระจายทางวัฒนธรรมเขมรไปสู่วัฒนธรรมทวาราวดี เช่นเดียวกัน

     จากที่กล่าวมาจึงสรุปได้ว่า การผสมผสานทางวัฒนธรรมนั้น สามารถเกิดขึ้นได้เสมอๆ กับชุมชนโบราณในอดีต

 

เอกสารอ้างอิง

 

กรมศิลปากร. 2540. ปราสาทเมืองต่ำ. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ดอกเบี้ย.

จังหวัดบุรีรัมย์. 2526. ประวัติมหาดไทยส่วน ภูมิภาคจังหวัดบุรีรัมย์. จังหวัดบุรีรัมย์.

ฉวีวรรณ วิริยะบุศย์. 2516. “ประติมากรรมสำริด จากบ้านฝ้ายอำเภอลำปลายมาศ”. ประติมากรรมสำริดชิ้นเยี่ยมจากบ้าน

     ฝ้ายลำปลายมาศ บุรีรัมย์. หน้า 21-42. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์การศาสนา.

วิสุทธิ์ ภิญโญวานิชกะ. 2542. พจนะ-สารานุกรมศิลปะไทย ฉบับคู่มือนักศึกษา. บุรีรัมย์ : สำนักพิมพ์สถาบันราชภัฏบุรีรัมย์.

ธิดา สาระยา. 2537. รัฐโบราณในภาคพื้นเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ : กำเนิดและ พัฒนาการ. กรุงเทพมหานคร : สำนัก

     พิมพ์เมืองโบราณ.

ธิดา สาระยา. 2538. (ศรี) ทวารวดี ประวัติศาสตร์ ยุคต้นของสยาม. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์เมืองโบราณ.

สุภัทรดิศ ดิสกุล.(มจ.). 2522. ศิลปในประเทศไทย.กรุงเทพมหานคร : อมรินทร์การพิมพ์.

ศรีศักร วัลลิโภดม. 2532. “จากถ้ำถมอรัตน์ถึงถ้ำโพธิสัตว์” วารสารเมืองโบราณ. (มกราคม-มีนาคม) : 49-62.

Leave a Reply