โดย สมาพร คล้ายวิเชียร

Adam and Eve ผลงาน Albrecht Durer
Adam-Eve ผลงาน Albrecht Durer

ภาพพิมพ์มีประวัติความเป็นมาเริ่มตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ (200,000 ปีก่อน คริสตกาล) โดยมนุษย์โครมันยอง ดังพบภาพพิมพ์รูปมือบนผนังถ้ำในถ้ำลาสโควซ์ ประเทศฝรั่งเศสและถ้ำอัลตามิรา ประเทศสเปน ต่อมาชาวอียิปต์และชาวเมโสโปเตเมียรู้จักการพิมพ์ภาพแบบใช้แรงกดประทับบนผิววัสดุที่อ่อนนิ่ม เช่น ดิน ขี้ผึ้ง จากนั้นมนุษย์คิดค้นกระดาษขึ้นได้จึงเปลี่ยนวัสดุรองรับที่เป็นดินหรือขี้ผึ้งมาเป็นกระดาษแทน นับแต่นั้นมาภาพพิมพ์ก็ได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้านรูปแบบ กลวิธีการพิมพ์ตามวิวัฒนาการของมนุษย์และความเจริญก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาจนถึงปัจจุบัน

ความเจริญก้าวหน้าทางด้านการพิมพ์เป็นสิ่งที่ช่วยส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าทางด้านศิลปะวิทยาการ เพราะว่ามนุษย์สร้างสรรค์กระบวนการพิมพ์ภาพขึ้นมาก็เพื่อตอบสนองความต้องการ ในการเผยแพร่ความคิดและความรู้ของมนุษย์ให้กระจายไปได้อย่างแพร่หลาย ตลอดจนเพื่อเก็บรักษาความรู้ต่างๆ ไว้ให้คนรุ่นหลังได้ศึกษาถึงความเป็นมาของความรู้ในเรื่องต่างๆ ดังนั้นเพื่อให้เห็นภาพรวมของพัฒนาการทางด้านการพิมพ์ภาพที่ก่อประโยชน์ให้มนุษย์อย่างมากในปัจจุบัน จึงขอกล่าวถึงประวัติความเป็นมาของภาพพิมพ์ในกลุ่มประเทศตะวันออก กลุ่มประเทศตะวันตกหรือยุโรปและในประเทศไทย

วิวัฒนาการด้านการพิมพ์ในกลุ่มประเทศตะวันออก คือ จีน ญี่ปุ่นนั้น แสดงให้เห็นว่า จีนเป็นชนชาติแรกที่คิดค้นการทำภาพพิมพ์ขึ้น โดยการแกะสลักลงบนหิน หยก งาช้าง กระดูกสัตว์ และเขาสัตว์ เพื่อทำเป็นแม่พิมพ์แล้วกดแม่พิมพ์ลงบนดินเหนียว ครั่ง ขี้ผึ้งหรือกระดาษให้เกิดลักษณะเป็นรอย ความรู้การพิมพ์นี้ได้เผยแพร่ไปยังประเทศตะวันตกและประเทศเพื่อนบ้านที่สำคัญได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น เกาหลี ซึ่งประเทศเกาหลีได้พัฒนาความรู้เรื่องการพิมพ์นี้จนสามารถทำตัวเรียงพิมพ์ เป็นโลหะสำเร็จ ในส่วนของประเทศญี่ปุ่นก็ได้พัฒนาการพิมพ์ขึ้นจนเป็นที่ยอมรับ ในด้านของภาพพิมพ์ที่มีคุณค่า ซึ่งมีสกุลช่างภาพพิมพ์แกะไม้ที่มีชื่อเสียง คือ สกุลช่างอูกิโยเอะที่สามารถสร้างสรรค์ผลงานภาพพิมพ์ได้อย่างงดงามและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ดังจะเห็นได้จากประเทศญี่ปุ่นได้ให้อิทธิพลแก่ศิลปะของประเทศทางตะวันตกหรือยุโรปในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19

ส่วนภาพพิมพ์ในกลุ่มประเทศตะวันตกมีพัฒนาการมาอย่างยาวนานและต่อเนื่อง นับตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่รู้จักกระบวนการพิมพ์โดยการวางมือทาบบนผนังถ้ำแล้วเป่าสี หรือทาสีบนฝ่ามือ จากนั้นกดประทับเป็นรูปมือไว้บนผนังถ้ำ ต่อมาอารยธรรมอียิปต์ได้รู้จักนำ ภาพแกะสลักเล็กๆ กดลงบนดินให้เกิดเป็นรอยขึ้น ส่วนในดินแดนเมโสโปเตเมียค้นพบการใช้ ดินเหนียวแกะเป็นตราสัญลักษณ์และนำไปตากแดดให้แห้งหรือนำไปเผาไฟ เพื่อให้เกิดเป็นแม่พิมพ์กดประทับ ต่อมาในปี ค.ศ. 1450 โจฮัน กูเต็นเบิร์ก ได้คิดประดิษฐ์แท่นพิมพ์อย่างง่ายขึ้น จากนั้นในช่วง ค.ศ. 15 อัลเบรชท์ ดือเรอร์ ได้คิดค้นกลวิธีภาพพิมพ์ร่องลึก พอถึง ค.ศ. 16 ทอมัส บิวิค ได้คิดค้นกลวิธีภาพพิมพ์ลายแกะไม้ได้สำเร็จ

หลังจากนั้นวิลเลียม เบลก ได้พยายามปรับปรุงภาพพิมพ์ผิวนูน ด้วยวิธีการสร้างภาพผลงาน ลงบนแผ่นโลหะโดยให้กรดทำปฏิกิริยากับแผ่นโลหะจนได้แม่พิมพ์ผิวนูนและในประเทศเยอร์มัน ได้มีการคิดค้นกลวิธีภาพพิมพ์มัชฌิมรงค์ ในปี ค.ศ. 1660 เฮอร์คิวลิส ซีเกอร์ ได้คิดกลวิธีภาพพิมพ์อย่างสีน้ำ พอถึงค.ศ. 1793 อะลัวส์ เซเนเฟลเดอร์ ได้ค้นพบกลวิธีภาพพิมพ์หิน และในระหว่างปี ค.ศ. 1864-1901 อองรี เดอ ตูลูส โลเตรก ได้นำกลวิธีภาพพิมพ์หินมาพัฒนาให้เข้ากับระบบธุรกิจ โดยทำ โปสเตอร์หลายๆ สีออกสู่สาธารณชน ค.ศ. 1907 ซามูเอล ไซมอน ได้พัฒนาและปรับปรุงกลวิธีภาพพิมพ์ผ่านฉาก โดยใช้เส้นไหมมาทำเป็นแม่พิมพ์จนสำเร็จ เรียกอีกอย่างว่า “กลวิธีภาพพิมพ์ตะแกรงไหม” ซึ่งกลวิธีนี้เป็นที่นิยมอย่างมากของศิลปินใน ค.ศ. 20 เช่น รอเบิร์ต เราเชนเบิร์ก แอนดี วอร์โฮล เป็นต้น

สำหรับภาพพิมพ์ในประเทศไทยนั้น ระยะเริ่มแรกทำขึ้นเพื่อประโยชน์ใช้สอยเชิงพาณิชย์ศิลป์ โดยพิมพ์เป็นภาพประกอบหนังสือและหนังสือเป็นส่วนใหญ่ หลังจากนั้นได้รับการพัฒนาจนกลายเป็นงานภาพพิมพ์ระยะต่อมาในระบบการศึกษา โดยมีคณะจิตรกรรมและประติมากรรม มหาวิทยาลัยศิลปากรเป็นผู้บุกเบิกการเรียนการสอนทางด้านภาพพิมพ์เป็นแห่งแรก และก็มีสถาบันอื่นๆ เปิดตามมา จนกระทั่งปัจจุบันภาพพิมพ์ของศิลปินไทยเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ

Leave a Reply