โดย สมาพร คล้ายวิเชียร

บทนำ

     เมื่อกล่าวถึงความงามของพระพุทธชินราช ซึ่ง ประดิษฐานอยู่ที่วัดพระศรีรัตนมหาธาตุ อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลกแล้ว ก็ต้องคิดย้อนไปถึงพระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ทรง ดำรัสว่า “พระองค์ไม่ทรงเคยทอดพระเนตรเห็น พระพุทธรูปองค์ใดจะมีความงามยิ่งไปกว่าพระพุทธชินราช เลย” (สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์, 2537:178)

     ความงามของพระพุทธชินราชนั้น กล่าว ขานกันว่าเป็นพระพุทธรูปที่งามที่สุดในประเทศไทย

พระพุทธชินราช

     พระพุทธชินราช ประดิษฐานอยู่ที่วิหารด้านทิศตะวันตก วัดพระศรีรัตนมหาธาตุริมฝั่งตะวันออกของแม่น้ำน่าน อ.เมือง จ.พิษณุโลก ชาวเมืองพิษณุโลกเรียกกัน ติดปากว่า “วัดใหญ่” เป็น วัดโบราณที่มีความสำคัญมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย แต่ไม่ปรากฏ หลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใด จากโบราณวัตถุและโบราณสถานภายในวัด เช่น พระพุทธชินราช พระอัฏฐารศ ซึ่งเป็นข้อ สันนิษฐานยุติได้ว่า สร้างขึ้นในสมัยพระมหาธรรมราชาลิไทย ระหว่าง พ.ศ. 1890-1911 (เสนอ นิลเดช, 2532:67)

พระพุทธลักษณะ

     พระพุทธชินราชเป็นพระพุทธรูปหล่อด้วยทองสำริด (โลหะเจือชนิดหนึ่งประกอบด้วยทองแดง และดีบุก) ขนาดหน้าตักกว้าง 5 ศอกคืบ 5 นิ้ว ปาง มารวิชัย ประทับนั่งแบบวีราสนะหรือนั่งขัดสมาธิราบ แปลว่าท่านั่งของผู้กล้าหาญ โดยพระชงฆ์ขวาซ้อน เหนือพระชงฆ์ซ้าย มองเห็นฝ่าพระบาทขวาเพียงข้างเดียวเหนือปัทมาสน์บนฐานสิงห์ย่อมุมภายในซุ้มเรือนแก้ว พระหัตถ์ซ้ายวางหงายบนพระเพลา พระหัตถ์ขวาคว่ำบนพระชานุ ปลายพระหัตถ์เรียวยาวเสมอกัน พระพุทธรูปมีพระพักตร์ค่อนข้างกลม พระนลาฎค่อนข้างแคบ พระขนงโก่งมีพระอุนาโลม ตรงกลางพระนลาฎ พระเนตรเหลือบต่ำ พระนาสิกใหญ่-โด่ง พระโอษฐ์เรียวและพระกรรณยาว ขมวดพระเกศาเป็นก้นหอย มีพระเกศมาลาและรัศมีเป็นเปลว องค์พระพุทธรูปมีพระวรกายสมส่วน ครองอุตรา สงฆ์ห่มเฉียงเปิดพระอังสาขวา อุตราสงฆ์เรียบบางแนบพระวรกายมีชายซ้อนทับพาดเหนือพระอังสาซ้ายปลายเป็นเขี้ยว ตะขาบยาวจรดพระนาภี อัตราสกที่ทรงปรากฏขอบที่บริเวณเหนือข้อพระบาททั้งสองข้าง

    

 

ทัศนะความงามในพระพุทธชินราช

     การมองเห็นคุณค่าความงามของพระพุทธ ชินราชนั้น มีความแตกต่างกันออกไปตามทัศนะของแต่ละบุคคล ดังนี้

     1. พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้ทรงสรรเสริญไว้ว่า “ก็แหละพระพุทธชินราช พระพุทธชินสีห์ พระศรีศาสดา 3 องค์นี้ เป็นปฏิมากรดีล้ำเลิศ ประกอบด้วยพุทธลักษณะอันประเสริฐ มีศิริอันเทพยดาอภิบาลรักษาย่อมเป็นที่ สักการะบูชานับถือมาแต่โบราณ แม้พระเจ้าแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาเก่าที่ได้มีพระเดชานุภาพมโหฬารปรากฏมาในแผ่นดิน ก็ทรงนับถือทำการสักการะบูชามาหลายพระองค์” (บริบาลบุรีภัณฑ์, 2503:112)

     2. พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงเสื่อมใสพระพุทธชินราชมาก ทรงปรารภว่า “พระองค์ไม่เคยทอดพระเนตรเห็นพระพุทธรูปองค์ใดจะมีความงดงามยิ่งไปกว่าพระพุทธชินราชเลย” (สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์, 2537:178)

     3. พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทรงสรรเสริญไว้ในพระราชนิพนธ์เที่ยวเมืองพระร่วงว่า “ตั้งแต่ข้าพเจ้าเห็นพระพุทธรูปมานักแล้ว ไม่เคยรู้สึกว่าดูปลื้มใจจำเริญตาเท่าพระพุทธชินราชเลย ที่ตั้งนั้นก็เหมาะสมหนักหนา วิหารพอเหมาะกับพระ มีที่ดูได้ถนัดและองค์พระนั้นตั้งต่ำพอดูได้ตลอดองค์ ไม่ต้องเข้าไปดูจนจ่อเกินไป และไม่ต้องแหงนคอตั้งบ่า แลดูแต่พระนาสิก ยิ่งพิศไปยิ่งรู้สึกยินดี” (บริบาล บุรีภัณฑ์, 2503:112)

    4. หลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ได้กล่าวว่า (2503:110) “ความงามของพระพุทธชินราชเป็นความงามที่สามารถจะหน่วงเหนี่ยวใจมนุษย์ แม้ไม่เคยนับถือพระพุทธศาสนาเลยก็ให้เพลิดเพลินในการชมพระลักษณะของพระองค์ได้ตั้งหลายๆ ชั่วโมง”

     5. สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์ (2537:171) ได้กล่าวว่า “พระพุทธชินราชเป็นพระพุทธรูปสำริดที่มีความงาม เช่นเดียวกับพระพุทธรูปลีลาสำริดที่อาจถือได้ว่าเป็นพระปฏิมาปางลีลาที่มีความงามที่สุดในบรรดาพระพุทธรูปลีลาทั้งหลาย จากพุทธลักษณะที่ปฏิมากรได้สร้างขึ้นจากคัมภีร์มหาบุรุษลักษณะ เช่น พระขนงโก่งดั่งศร พระเนตรดั่งกลีบบัว พระนาสิกดั่งจงอยปากนกแก้ว พระโอษฐ์ดั่งกระจับ พระอุระดั่งพญาราชสีห์ และพระกรดั่งงวงช้างนั้น ได้รับการประสมประสานเข้าด้วยกันอย่างกลมกลืน”

     จากทัศนะความงามที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่า การมองเห็นคุณค่าทางความงามของพระพุทธชินราช ย่อมแตกต่างกันไปตามประสบการณ์และรสนิยมของผู้ได้สัมผัส ซึ่งจะใช้มาตรฐานความงามของตนเองเป็นเกณฑ์ตัดสิน ส่วนบทความนี้จะขอนำเสนอความงามของพระพุทธชินราชตามเกณฑ์มาตรฐานในการกำหนดคุณค่าความงามทางศิลปะ ซึ่งประกอบด้วยมูลฐานทางศิลปะ (Elements of Art) และหลักการทางศิลปะ (Principles of Art) เป็นเกณฑ์ตัดสินคุณค่าความงาม

 

พระพุทธชินราชความงามตามเกณฑ์ทางศิลปะ

     พระพุทธชินราชเป็นงานศิลปะที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้น เพื่อเป็นสัญลักษณ์แทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า การสร้างพระพุทธรูปมีประวัติความเป็นมาโดยสังเขป ดังนี้

     การสร้างพระพุทธรูป

     หลังจากที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จเข้าสู่ปรินิพพานแล้ว ในช่วงเวลาประมาณ 300 ปีแรกหรือตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ 1-3 ไม่พบหลักฐานทางด้านศิลปวัตถุที่ถือว่าเป็นรูปเคารพหรือสัญลักษณ์แทนองค์พระพุทธเจ้า สันนิษฐานว่าพุทธศาสนิกชนในสมัยนั้น เมื่อระลึกถึงพระศาสดาใคร่เห็นพระพุทธองค์ต่างก็พากันไปทำพุทธบูชาปลงธรรมสังเวช ณ สังเวชนีย สถานทั้ง 4 แห่ง ที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตไว้ แต่ก็ยังไม่ปรากฏว่ามีการสร้างพระพุทธรูปเลย จนกระทั่งถึงราวพุทธศตวรรษที่ 6-7 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อินเดียฝ่ายเหนืออยู่ในการปกครองของกษัตริย์ราชวงศ์กุษาณะ กษัตริย์องค์สำคัญของราชวงศ์นี้ก็คือ พระเจ้ากนิษกะ (พ.ศ. 621-687) ซึ่งตั้งราชธานีอยู่ที่เมืองเปษวาร์ในแคว้นคันธาระ ชาวเมืองคันธาระส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนามาตั้งแต่สมัยพระเจ้าอโศกมหาราช นักปราชญ์เชื่อว่า ข้อห้ามเรื่องการสร้างรูปเคารพแทนเทพเจ้าหรือบุคคลสำคัญเริ่มเสื่อมลง ประกอบกับชาวกรีกที่อยู่ในแคว้นคันธาระ และนับถือพระพุทธศาสนา ไม่มีความเชื่อในเรื่องการห้ามสร้างรูปเคารพ จึงคิดสร้างพระพุทธรูปขึ้น ซึ่งลักษณะพระพุทธรูปนั้นอนุโลม ตามลักษณะมหาบุรุษในคัมภีร์พระพุทธศาสนา เพื่อ เป็นอนุสติให้บุคคลเห็นแล้วระลึกถึงพระบรมศาสดาและการสร้างพระพุทธรูปก็นิยมกันแพร่หลายตั้งแต่นั้น เป็นต้นมา

     พระพุทธชินราชเป็นพระพุทธรูปสมัยสุโขทัย และก็คงสร้างขึ้นตามคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาเช่นกัน ซึ่งปรากฏว่ามีคุณค่าทางความงามพร้อมสมบูรณ์ทั้งความงามด้านเนื้อหาและความงามด้านรูปแบบ 

 

คุณค่าทางความงามด้านเนื้อหา

     ตามที่ได้กล่าวแล้วว่า พระพุทธชินราชสร้างขึ้นเป็นสัญลักษณ์แทนองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยสร้างตามลักษณะมหาบุรุษ 32 ประการ ใช้เรื่องพุทธประวัติตอนมารผจญที่กล่าวว่า ขณะที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงบำเพ็ญเพียรอยู่นั้น พญาวัสวดีมารได้ยกกองทัพมาเพื่อทำลายความเพียรของพระองค์ เหล่าเทพพดาที่เสด็จมาเฝ้าชมพระบารมีอยู่ต่างหนีกันไปหมด เจ้าชายสิทธัตถะซึ่งประทับนั่งอยู่เหนือรัตนบัลลังก์ได้เหยียดพระหัตถ์เบื้องขวาพาดไปที่พระชงค์ อ้างพระแม่ธรณีเป็นสักขีพยาน พระแม่ธรณี ได้ปรากฏกายบิดน้ำจากพระโมลีท่วมหมู่มาร

     การใช้เรื่องราวทางพระพุทธศาสนา ซึ่งเป็นเรื่องของคุณงามความดีที่มุ่งอบรมสั่งสอนให้พุทธศาสนิกชนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขเป็นฐานสำคัญที่ทำให้องค์พระพุทธชินราชปรากฏคุณค่าความงามด้านเนื้อหาได้อย่างสมบูรณ์

คุณค่าความงามด้านรูปแบบ

     คุณค่าความงามด้านรูปแบบ คือ ความงามที่เกิดจากการนำมูลฐานทางศิลปะ (Elements of Art) และหลักการทางศิลปะ (Principles of Art) สร้างสรรค์ความงาม ซึ่งความงามได้ปรากฏในองค์พระพุทธชินราช ดังนี้

     1. ความงามที่เกิดจากการใช้เส้น (Beauty in Line) การออกแบบองค์พระพุทธชินราชที่ส่วนใหญ่ใช้เส้นโค้งทั้งซ้ายและขวาสัมพันธ์กันขึ้นไปยังส่วนพระรัศมีและส่วนเรือนแก้วที่ออกแบบเส้นให้ผสมผสานกลมกลืนกับเส้นรอบนอกขององค์พระ สามารถสร้างดุลยภาพ (Balance) ของความงาม อีกทั้งเป็นการเพิ่มมิติทางการมองเห็นให้ผนังวิหาร ซุ้มเรือนแก้ว องค์พระ มีมิติเป็นระยะที่ 1 ระยะที่ 2 และระยะที่ 3

 

     2. ความงามที่เกิดจากการใช้รูปทรง (Beauty in Form) การออกแบบองค์พระพุทธรูปในท่าประทับนั่งปางมารวิชัย ตามเรื่องในพระพุทธประวัติทำให้เกิดรูปทรงโดยรวมของพระพุทธรูปเป็นทรงสามเหลี่ยมหน้าจั่ว อันเป็นโครงสร้างที่ประกอบด้วยเส้นตั้งตรงและเส้นเฉียงสองเส้นค้ำเส้นตรงไว้ ถือเป็นโครงสร้างที่มั่นคงแข็งแรงและมีสัดส่วนความงามมาตรฐาน ลักษณะดังกล่าวได้เน้นให้เห็นถึงความมั่นคงขององค์สมเด็จพระพุทธเจ้าในการต่อสู้กับกิเลสเพื่อไปสู่การหลุดพ้น แสดงลักษณะของความมั่นคงแห่งพุทธิจิต นอกจากนั้นรูปทรงหน้าจั่วยังบ่งบอกถึงหนทางที่นำไปสู่เบื้องบน คือความหลุดพ้นได้อีกด้วย

 

     3. ความงามที่เกิดจากการใช้น้ำหนัก (Beauty in Value) การออกแบบพระพุทธรูปที่เกิดจากเส้นและรูปทรงที่สามารถสร้างความรู้สึกบางเบาไร้น้ำหนัก คือ องค์พระประทับนั่งบนกลีบบัวอย่างนุ่มนวลและบางเบา เป็นการสร้างคุณค่าความงามจากวัตถุที่หนักให้ปรากฏลักษณะที่บางเบาได้อย่างกลมกลืน

 

     4. ความงามที่เกิดจากการใช้สี (Beauty in Colors) การเลือกใช้สีและวัตถุที่มีลักษณะพื้นผิว ป็นมันวาว สามารถสร้างสรรค์ความงามให้สอดคล้องกับเส้น รูปทรงและน้ำหนักได้เป็นอย่างดี ซึ่งความมันวาวนี้ เป็นคุณสมบัติที่ทำให้วัตถุนั้นสะท้อนแสงได้ดี เมื่อแสงส่องมากระทบ จึงทำให้องค์พระสะท้อนแสงออกมาในความมืดแลดูศักดิ์สิทธิ์ นอกจากนั้น การใช้พื้นสีดำก็ได้ช่วยเน้น (Emphasis) ให้องค์พระดูโดดเด่นและสง่างามยิ่งขึ้น

 

 

     5. ความงามที่เกิดจากการใช้ระวาง (Beauty in Space) หรือบริเวณว่าง บริเวณว่างเกิดขึ้นระหว่างช่องแขนขวาขององค์พระและบริเวณว่างระหว่างองค์พระกับซุ้มเรือนแก้วที่ทำให้เกิดการมองเห็นที่ทะลุไปยังด้านหลัง เกิดจังหวะที่สอดคล้องกับการออกแบบที่ต้องการให้องค์พระล่องลอยอยู่บนกลีบบัว ดูโปร่ง ไม่ทึบตัน

 

 

สรุป

     จากที่นำเสนอมาสรุปได้ว่า องค์พระพุทธชินราชนั้นเป็นผลงานศิลปะที่สร้างสรรค์ขึ้นตามหลักการทางศิลปะ คือ มีความกลมกลืน (Harmony) มีดุลยภาพ (Balance) มีทิศทาง (Direction) มีจังหวะ (Rhythm) การเน้น (Emphasis) ฯลฯ โดยใช้มูลฐานทางศิลปะ คือ เส้น (Line) สี (Colors) รูปทรง (From) น้ำหนัก (Value) ฯลฯ ให้เกิดเป็นเอกภาพ (Unity) เป็นความงามทางศิลปะ เป็นความงามที่ปรากฏอยู่ในองค์พระ ซึ่งถ้าใครได้ศึกษาหรือเข้าใจในเรื่องของศิลปะก็จะสามารถสัมผัสความงามขององค์พระพุทธชินราชได้อย่างง่ายดาย นอกจากนั้น พระพุทธรูปยังเป็นสิ่งที่พุทธศาสนิกชนเลื่อมใสศรัทธา การสร้างพระพุทธรูปอันเป็นสัญลักษณ์แทนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยสร้างตามลักษณะมหาบุรุษ ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษ ประกอบกับผู้สร้างองค์พระพุทธรูปมีฝีมือทางศิลปะ จึงสามารถถ่ายทอดความงามขององค์พระพุทธชินราชได้อย่างสมบูรณ์   ดังนั้นคำกล่าวที่ว่า “พระพุทธชินราช เป็นพระพุทธรูปที่งามที่สุดในประเทศไทย” จึงเป็นคำกล่าวที่ตั้งอยู่บนข้อสมมุติฐานที่เป็นจริง

 

บรรณานุกรม

บริบาลบุรีภัณฑ์, หลวง. (2503). ชุมชนโบราณคดี. กรุงเทพฯ: นิยมวิทยา.

พัชรินทร์ ศุขประมูล และคณะ. (2532). รูปและ สัญลักษณ์แห่งพระศากยพุทธ. กรุงเทพฯ: อมรินทร์ พริ้นติ้ง กรุ๊ฟ.

เสนอ นิลเดช. (2532). เมืองสองแควเมื่อวาน พิษณุโลกวันนี้. กรุงเทพฯ: อักษรสัมพันธ์.

สุริยวุฒิ สุขสวัสดิ์ ศ.ดร.ม.ร.ว. (2537). ศรีทวารวดีถึง ศรีรัตนโกสินทร์. กรุงเทพฯ: เมืองโบราณ.

สงวน รอดบุญ. (2533). พุทธศิลป์สุโขทัย. พิมพ์ครั้ง ที่ 2. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์.

สุชาติ สุทธิ. (2535). การเรียนรู้การเห็น:พื้นฐาน การวิจารณ์ทัศนศิลป์. กรุงเทพฯ:โอเดียน สโตร์.

Mitter, G.A. A Critical Inquiry in Art Criticism. Bloomington:Indiana University.

Leave a Reply