โดย สมาพร คล้ายวิเชียร

คุกหรือเรือนจำเป็นสถานที่ที่ไม่มีใครอยากเข้าไปอยู่ในนั้น แม้แต่เพียงเสี้ยววินาทีเดียว เพราะการที่ต้องเข้าไปอยู่เรือนจำในฐานะผู้ต้องขัง ถือได้ว่าเป็นผู้โชคร้าย สาเหตุอาจเป็นเพราะช่วงก่อนเข้าไปอยูในเรือนจำ พวกเขาได้พบเรื่องราวหรือสถานการณ์อันบีดบังคับ กดดัน ถูกเอาเปรียบ ถูกโกงถูกรังแกจากผู้อื่น อาจจะเป็น เพราะความโลภ ความอยากมีอยากได้ ตลอดจนความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ จนกระทั่งผลักดันให้พวกเขาไม่สามารถควบคุมตนเองได้ จนนำไปสู่การกระทำผิด เมื่อนำเอาสภาพชีวิตของผู้ต้องขังมาเปรียบเทียบกับชีวิตของข้าพเจ้าแล้ว ถึงแม้ข้าพเจ้าจะมีความทุกข์ ถูกกดดัน ถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกโกง ถูกใส่ร้ายป้ายสี ไม่ได้รับความยุติธรรมบ้าง แต่ข้าพเจ้าสามารถผ่านวิกฤตินั้นมาได้ เพราะใช้ธรรมะเข้าข่มทำให้มีความอดทนอดกั้น และยังได้รับคำแนะนำ คำปรึกษาที่ดีจากครอบครัวและเพื่อน ข้าพเจ้าจึงโชคดีได้อยู่อย่างอิสระ อยากไปไหนก็ได้ไป ได้อยู่กับครอบครัว ได้ดูแล พ่อ แม่ ปู่ย่า ตายาย ได้ประกอบอาชีพที่ตนเองรัก

ากพื้นฐานทางความคิดข้างต้น ข้าพเจ้าจึงไม่มีความคิดที่จะกระทำพฤติกรรมใดๆ ที่จะทำให้ตัวเองเข้าไปอยู่ในเรือนจำเป็นอันขาด แต่จากการที่ได้รับฟังเกี่ยวกับโครงการ Art for All : ประตูสู่จินตนาการ กิจกรรมห้องเรียนศิลปะแก่ผู้ต้องขังกำหนดโทษสูง ประเภทคดีความผิดต่อชีวิต (นักโทษคดีฆ่าคนตาย) ของ ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ ที่เล่าว่า “ภาพวาดของผู้ต้องขังเหล่านั้น มีความน่าสนใจเป็นงานที่มีจินตนาการ สถานที่กักขังไม่สามารถปิดกั้นความคิดฝัน จินตนาการ ของพวกเขาเหล่านั้นได้เลย” ประกอบกับ ความอยากรู้ อยากเห็นและเพื่อนชวน ข้าพเจ้าจึงปากกล้าขาสั่นขอติดตามอาจารย์เข้าไปสังเกตการณ์ ภายในเรือนจำกลางบางขวาง จ. นนทบุรี กับอาจารย์ด้วยคน

เมื่อถึงกำหนดวันนัดหมาย (27 มิถุนายน พ.ศ. 2551) ที่ต้องเข้าไปในเรือนจำกลางบางขวาง ข้าพเจ้าเริ่มสงสัยว่าตัวเองตัดสินใจผิดไหมหน๋อ… ที่จะเข้าไปในนั้น เพราะภาพแรกที่ข้าพเจ้าเห็น คือ ผู้คุมหน้าตาดุๆ เดินลงจากรถตู้เรือนจำตรงมายังรถแท็กซี่ที่ข้าพเจ้านั่ง แล้วชโงกหน้าเข้ามาในรถแท็กซี่ เพื่อดูหน้าข้าพเจ้า เนื่องจากคนขับแท็กซี่บีบแตไล่รถตู้ของผู้คุมคนนั้น เหตุการณ์นี้ได้สร้างความสยองขวัญให้แก่ข้าพเจ้าพอสมควร เมื่อข้าพเจ้าลงจากรถแท็กซี่ก็เห็นป้ายเรือนจำกลางบางขวาง  โดดเด่นมาก ประตูด้านหน้าสีแดงขนาดใหญ่มาก ซึ่งประตูที่ใหญ่ขนาดนี้ มันทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกว่าตัวเองตัวเล็กนิดเดียว ช่วงนี้เองเริ่มรู้สึกกลัวขึ้นมาอีกแล้ว และ เมื่อเห็นเพื่อนๆ มาถึงก็อุ่นใจขึ้น พวกเรา 3 คน ก็นั่งรออาจารย์อยู่หน้าเรือนจำ พอถึงเวลานัดอาจารย์ก็เดินออกมาจากประตู แล้วเรียกพวกเราให้เข้าไปในนั้น

พวกเราเดินตามอาจารย์และทีมงานไม่ห่าง โดยเฉพาะตัวข้าพเจ้าที่พยายามเดินให้อยู่กลางๆ กลุ่มที่สุด เพราะยังรู้สึกกลัวอยู่ จึงทำให้ระหว่างที่เดินไม่สามารถเก็บรายละเอียดของสถานที่และบรรยากาศในเรือนจำว่า มีอะไรบ้างและเป็นอย่างไรได้มากนัก แต่สิ่งที่สะดุดตาที่สุดคือสถานที่สำหรับให้ผู้ต้องขังพบญาติ เป็นห้องมีกระจกกั้นเป็นช่องๆ มีโทรศัพท์วางอยู่ทุกช่อง เพื่อใช้พูดคุยกันแต่อยู่ในระยะห่างมาก เมื่อมองแล้วก็ได้แต่คิดว่า ถ้าเป็นตัวเราเองอยู่ในสภาพแบบนี้คงเศร้าน่าดู

พวกเราเดินตามอาจารย์และทีมงานจนมาถึงจุดหมาย ในใจก็เฝ้าแต่คิดว่าเหตุการณ์หรือกิจกรรมที่จะได้เห็นต่อไปจะเป็นอะไรนะ และแล้วทีมงานก็แจกเอกสารที่บอกข้อมูลพื้นฐานของผู้ต้องขังว่าเป็นใคร ทำอะไร มาจากไหน ต้องโทษลักษณะใด พร้อมกับมีภาพวาดเส้นของพวกเขาแทรกอยู่ในเอกสารนั้น จากข้อมูลที่ได้อ่านทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกขามเกรงอยู่ใช่น้อย เพราะ   ผู้ต้องขังได้รับโทษจากคดีการฆ่าคนตาย ซึ่งโทษเบาที่สุด จำคุก 36 ปี จนถึงตลอดชีวิตและประหารชีวิต

แต่เมื่อดูภาพที่ผู้ต้องขังเหล่านั้นวาดแล้ว จากจำนวน 12 คน ผู้ต้องขังส่วนใหญ่จะวาดภาพมีลักษณะของรูปแบบและ       เรื่องราวแสดงออกถึงความอิสระ การได้สัมผัสกับธรรมชาติ และการได้ใช้ชีวิตอยู่ในโลกกว้าง ภาพวาดส่วนหนึ่งมีลักษณะของรูปแบบและเรื่องราวแสดงออกถึงสภาวะของความกดดัน สะท้อนความคิดเชิงลบที่ต้องขบคิดในชีวิตของตนเอง เช่น ผู้ต้องขังคนหนึ่งเขียนข้อความว่า “Bangkwang let me live or die” ลงไปในภาพวาด และมีอยู่หนึ่งภาพมีลักษณะรูปแบบและ   เรื่องราวแฝงหลักสัจจะธรรมของการดำรงชีวิต เพื่อใช้ปลอบใจตนเองให้รู้สึกสบายใจและยอมรับในชะตากรรมของตนเองให้ได้

ภาพแสดงถึงธรรมชาติ
ภาพแสดงถึงธรรมชาติ
ภาพแสดงออกถึงความอิสระ
ภาพแสดงออกถึงความอิสระ

แสดงออกถึงความกดดัน
แสดงออกถึงความกดดัน

แต่อย่างไรก็ตามมีอยู่ภาพหนึ่งที่ทำให้ข้าพเจ้าสะดุดตาอย่างมาก เป็นภาพมือกำธงชาติไทย ซึ่งเรื่องราวที่ผู้ต้องขังแสดงออกนั้นสื่อออกมาถึงความรู้สึกของเขาที่เชิดชูชาติไทย ลักษณะการกำมือ ดูแล้วรู้สึกถึงความมุ่งมั่น ความเข้มแข็ง การจัดองค์ประกอบของภาพรู้จักวิธีการถ่วงน้ำหนักให้เกิด ความสมดุลในภาพ อีกทั้งการแรเงาใช้ลักษณะการแรเงาแบบเกลี่ยเรียบผสมผสานกับการแรเส้นเงาตัดขวาง ซึ่งลักษณะเส้นที่เกิดขึ้นแสดงถึงความละเอียดอ่อน ความประณีต

มือกำธงชาติไทย
มือกำธงชาติไทย

เมื่อดูจากภาพนี้แล้วทำให้ข้าพเจ้าสันนิษฐานว่า ผู้ต้องขังคนนี้น่าจะเป็นคนมุ่งมั่น ละเอียด ใจเย็น ช่างสังเกต และยังมีความคิดเชิงบวกทางด้านอุดมการณ์ความรักชาติ แต่สาเหตุที่เขาต้องมาเป็นผู้ต้องขัง อาจเพราะเขามีสภาพจิตใจเหมือนลูกโปร่งที่ถูกสูบลมเข้าไปเรื่อยๆ จนลมอัดแน่นเต็มลูกโปร่ง ในที่สุดลูกโปร่งตึง แล้วรับลมไม่ไหว ลูกโปร่งจึงระเบิดออกมา ก็เหมือนสภาวะทางอารมณ์ที่ถูกกดดันจนทนไม่ไหว จนกระทั่ง ระเบิดอารมณ์ออกมา แล้วนำไปสู่ความรุนแรง

เนื่องจากสาเหตุนี้เองข้าพเจ้าจึงสงสัยว่า หากย้อนเวลากลับไปได้ก่อนเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ที่รุนแรง หรือ ในขณะผู้ต้องขังมีสภาวะทางอารมณ์ที่โกธรจัดๆ กดดันมากๆ ลักษณะภาพวาดของเขาจะเป็นอย่างไร เรื่องราว ที่นำมาแสดงออกจะเป็นเรื่องแนวไหน และเมื่อเขาวาดภาพแล้ว ความโกธร ความกดดันนั้นจะเบาบางลงหรือไม่ และจะระเบิดออกมาอีกหรือไม่

ถึงแม้ข้าพเจ้าจะได้สัมผัสเรือนจำกลางบางขวางเพียงส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งของเรือนจำเท่านั้น แต่ก็มี ความสงสัยเกิดขึ้นมากมายหลายเรื่องเกี่ยวกับความหลากหลาย ความซับซ้อนภายในเรือนจำ และสิ่งที่ได้รับ จากการได้เข้าไปเรือนจำครั้งนี้นั้น เกิดความรู้สึกดีๆ ว่า คนเรียนศิลปะที่ดูเหมือนแปลกแยกออกจากสังคม ทำตัวไร้ประโยชน์ เพ้อฝัน ไม่ค่อยมีกฎเกณฑ์หรือระเบียบ บ้างครั้งก็ถูกตั้งคำถามว่าเรียนศิลปะจบแล้ว จะไปทำอะไรกิน…? แต่ในวันนี้เองที่ข้าพเจ้ารู้สึกภูมิใจในวิชาชีพของตนเองอย่างมากกว่าที่เคยเป็นมา เพราะการได้มีโอกาสเข้าไปในเรือนจำกลางบางขวางทำให้รู้ว่า คนเรียนศิลปะอย่างข้าพเจ้าก็มีประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านจิตใจ เพราะผู้ต้องขังภายในเรือนจำนั้นมีความทุกข์ทางด้านจิตใจ ต้องการหา สิ่งหนึ่งสิ่งใด มาช่วยเยี่ยวยาสภาพจิตใจให้พ้นจากความทุกข์ ซึ่งเมื่อนำโครงการ Art for All : ประตูสู่จินตนาการ เข้าไปจัดการสอนศิลปะให้แก่ผู้ต้องขัง ศิลปะก็สามารถช่วยสร้างความสุข สงบ ให้เกิดแก่ผู้ต้องขังได้ และสิ่งนี้ เองเป็นการพิสูจน์ว่า คุณค่าของศิลปะนั้นมี   อนุภาพยิ่งใหญ่สามารถเยี่ยวยาสภาพจิตใจที่แตกสลายให้ดำรงอยู่ได้ต่อไป

Leave a Reply