การพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าไหมมัดหมี่ กลุ่มทอผ้าฝ้าย-ไหม บ้านหนองผือ 24 หมู่ 1 ตำบลหนองผือ อำเภอเมืองสรวง จังหวัดร้อยเอ็ด

โดย สมาพร คล้ายวิเชียร

บทคัดย่อ

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ 1. เพื่อพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ผ้าไหม มัดหมี่ของกลุ่มทอผ้าฝ้าย-ไหม บ้านหนองผือ 24 หมู่ 1 ต.หนองผือ อ.เมืองสรวง จ.ร้อยเอ็ด ให้ได้การรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) ระดับ 5 ดาว จากสำนักงานคณะกรรมการมาตรฐาน ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และ 2. เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ผ้าไหมมัดหมี่

การวิจัยจะเป็นการปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วมกับกลุ่ม โดยใช้เครื่องมือในการวิจัย 3 แบบ ได้แก่
1. แบบสัมภาษณ์เป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวม ข้อมูลมี 4 ส่วน คือ 1) ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ตอบ 2) บริบทผลิตภัณฑ์ 3) การผลิต 4) ข้อเสนอแนะ/ข้อมูลเพิ่มและที่ตั้งกลุ่ม จากกลุ่มตัวอย่างประชากร ที่เป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกลุ่มทอ ผ้าฝ้าย -ไหม เช่น ประธานกลุ่ม รองประธานกลุ่ม คณะกรรมการกลุ่ม ตลอดจนสมาชิกในกลุ่ม เพื่อให้ได้สภาพปัจจุบัน บริบทกลุ่ม สถานที่ผลิต กระบวนการผลิต จัดเก็บตัวอย่าง ทดสอบและศึกษา สภาพปัญหา 2. จัดเวทีระดมสมอง เพื่อวิเคราะห์ปัญหาและ วางแผนการดำเนินการปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์ 3. จัดการถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยีและ การอบรม เพื่อพัฒนาและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์

ผลการวิจัยปรากฏว่า ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมมัดหมี่ของกลุ่มทอผ้าฝ้าย-ไหม บ้านหนองผือ ได้ผ่านการตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ (ม.ผ.ช.) ผ้าไหมมัดหมี่ ระดับ 5 ดาว เลขที่ ม.ผ.ช. 17(1)/2546 ออกใบรับรองวันที่ 24 กุมภาพันธุ์ พ.ศ. 2549 และใบรับรองหมดอายุวันที่ 23 กุมภาพันธุ์ พ.ศ. 2552 จากสำนักงานคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และสามารถสร้าง มูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ผ้าไหมมัดหมี่ให้มีมูลค่าสูงขึ้นด้วย

ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

จากภาวะวิกฤติทางเศรษฐกิจของประเทศ ทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ประสบปัญหา ความยากจน รัฐบาลจึงได้ประกาศสงครามกับความยากจนโดยจัดให้มีโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ เพื่อ ให้แต่ละชุมชนได้มีส่วนร่วมในการสร้างกิจกรรมที่อาศัยศักยภาพของคนท้องถิ่น ในการใช้วัตถุดิบ จากทรัพยากรท้องถิ่นและนำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาใช้ในการพัฒนาสินค้าสู่สากล โดยรัฐบาลจะเข้าช่วยเหลือในด้านความรู้สมัยใหม่และการบริหารจัดการ เพื่อเชื่อมโยงสินค้า จากชุมชนสู่ตลาด ทั้งในและต่างประเทศ

โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ OTOP Product Champion (OPC) ในปี 2547 เป็นหนึ่ง ในโครงการจัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อรองรับการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ชุมชนหรือ ระดับพื้นบ้านที่ยังไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร ซึ่งวัตถุประสงค์ของโครงการที่สำคัญคือ ส่งเสริมและ พัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ชุมชนให้ได้การรับรองและแสดงเครื่องหมายการรับรอง เพื่อส่งเสริมทาง ด้านการตลาดของผลิตภัณฑ์ให้เป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลาย และสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค ในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ชุมชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เน้นให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมุ่ง ให้ความสำคัญของการนำภูมิปัญญาชาวบ้าน และทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาพัฒนาและสร้างมูลค่า ของผลิตภัณฑ์ให้สูงขึ้น มีคุณภาพ มีจุดเด่น มีเอกลักษณ์ มีการพัฒนาท้องถิ่น สร้างชุมชนให้เข้มแข็ง พึ่งตนเองได้ สร้างงาน สร้างรายได้ (สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม, 2546:1)

ผลิตภัณฑ์ผ้าทอพื้นบ้านถือว่าเป็นปัจจัยพื้นฐาน ในการตอบสนองความต้องการของมนุษย์ ด้านปัจจัยเครื่องนุ่มห่มเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่มีความหมายต่อชาติพันธุ์และมีคุณค่าความงาม ที่ได้รับการสืบทอด จากบรรพบุรุษมาหลายชั่วอายุคน กลุ่มทอผ้าฝ้าย-ไหม บ้านหนองผือ ก็เช่นกันโดย เฉพาะเด็กผู้หญิงสมัยก่อนต้องเรียนรู้ทำกิจกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทอผ้า และต้องทอผ้าชนิดต่างๆ ขึ้น เพื่อใช้ในชีวิตประจำวันของตนเอง เช่น ผ้าสไบ ผ้าซิ่น ผ้าขาวม้า ธงประดับ ฯลฯ (ดารา เหล่าพุทธา, สัมภาษณ์, 24 มิถุนายน 2548) และ พัฒนา กิติอาษา (2532 : 17) กล่าวว่า ผ้าชนิดต่างๆ นั้น มีคุณค่า ทางเศรษฐกิจและทางวัฒนธรรมในตัวเอง ดังนั้นในปัจจุบันจึงกลายมาเป็นสินค้าทำรายได้ ประกอบกับ รัฐบาลมีโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ OTOP Product Champion (OPC) ในปี 2547 ส่งเสริม ให้มีการรวมกลุ่มสตรีทอผ้า เพื่อเป็นอาชีพเสริม

กลุ่มทอผ้าฝ้าย-ไหม บ้านหนองผือ จึงได้เข้าร่วมโครงการโดยมีความต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ผ้าไหมมัดหมี่ ซึ่งที่ผ่านๆ มาก็มักจะพบปัญหาด้านคุณภาพผลิตภัณฑ์ขาดมาตรฐาน เช่น สีและเนื้อผ้าไม่สม่ำเสมอ ลายผิดหรือลายไม่ต่อเนื่อง ริมผ้าเสีย ลวดลายของผ้า ชนิดเส้นด้ายที่ใช้ทอ

จากปัญหาดังกล่าวมาข้างต้นนั้น จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ผ้าไหมมัดหมี่ ของกลุ่มทอผ้าฝ้าย-ไหม บ้านหนองผือ 24 หมู่ 1 ต.หนองผือ อ.เมืองสรวง จ.ร้อยเอ็ด ให้ได้การรับรอง มาตรฐานที่ราชการกำหนดคือ มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) ระดับ 5 ดาว และเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม ให้กับผลิตภัณฑ์ ในการดำเนินการครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากคณะอนุกรรมการ มาตรฐานและพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ ในคณะกรรมการอำนวยการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ แห่งชาติ และมีมหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์เป็นหน่วยดำเนินงาน

วัตถุประสงค์ของการวิจัย

1. เพื่อพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ชุมชน ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมมัดหมี่ ของกลุ่มทอผ้าฝ้าย-ไหม บ้านหนองผือ 24 หมู่ 1 ต.หนองผือ อ.เมืองสรวง จ.ร้อยเอ็ด ให้ได้การรับรองมาตรฐาน ผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) จากสำนักงานคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)

2. เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ผ้าไหมมัดหมี่

ขอบเขตของการวิจัย

การพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ครั้งนี้ ผู้วิจัยมุ่งพัฒนาเฉพาะผลิตภัณฑ์ ผ้าไหมมัดหมี่ กลุ่มทอผ้าฝ้าย-ไหม บ้านหนองผือ 24 หมู่ 1 ต.หนองผือ อ.เมืองสรวง จ.ร้อยเอ็ด เท่านั้น

เครื่องที่ใช้ในการวิจัย

1. แบบสัมภาษณ์เป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวม ข้อมูล 4 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ข้อมูลเกี่ยวกับ ผู้ตอบ ส่วนที่ 2 บริบทผลิตภัณฑ์ ส่วนที่ 3 การผลิต ส่วนที่ 4 ข้อเสนอแนะ/ข้อมูลเพิ่มและที่ตั้งกลุ่ม จาก กลุ่มตัวอย่างประชากรที่เป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกลุ่มทอ ผ้าฝ้าย-ไหม เช่น ประธานกลุ่ม รองประธานกลุ่ม คณะกรรมการกลุ่ม ตลอดจนสมาชิกในกลุ่ม เพื่อให้ได้สภาพปัจจุบัน บริบทกลุ่ม สถานที่ผลิต กระบวนการผลิต จัดเก็บตัวอย่าง ทดสอบและศึกษาสภาพปัญหา

2. จัดเวทีระดมสมอง เพื่อวิเคราะห์ปัญหา และวางแผนการดำเนินการปรับปรุงคุณภาพ ผลิตภัณฑ์

3. จัดการถ่ายทอดความรู้ เทคโนโลยีและการอบรม ในวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2547 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา โดยผู้ทรงคุณวุฒิ คือ รศ.ทรงพันธ์ วรรณมาศ อ.อ้อยทิพย์ เกตุเอม และอ.พัชรี รัตนพันธุ์ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์

วิธีดำเนินการวิจัย

ผู้วิจัยได้ดำเนินการวิจัยตามลำดับต่อไปนี้

1. ติดต่อประสานงานกับกลุ่มเป้าหมาย ผู้วิจัยได้ติดต่อกับกลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มทอผ้าฝ้าย – ไหม บ้านหนองผือ 24 หมู่ 1 ต.หนองผือ อ.เมืองสรวง จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งทำผลิตภัณฑ์ผ้าไหมมัดหมี่ และ ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ เช่น อุตสาหกรรมจังหวัด พัฒนาชุมชนอำเภอเมืองสรวง และกำนันผู้ใหญ่บ้าน

2. ตรวจสอบผลการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) และผลการคัดสรรสุดยอด หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ไทย (OTOP Product Champion) หลังจากหน่วยตรวจสอบวิทยาลัย เทคนิคบุรีรัมย์ได้ตรวจสอบแล้ว ได้ส่งผลการตรวจสอบไปยังสำนักงานคณะกรรมการมาตรฐาน ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)

3. สำรวจสภาพปัจจุบันของกลุ่มทอผ้าฝ้าย-ไหม บ้านหนองผือ 24 ม.1 ต.หนองผือ อ. เมืองสรวง จ. ร้อยเอ็ด

3.1 กลุ่มทอผ้าฝ้าย – ไหม บ้านหนองผือ ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 มีสมาชิกแรกเริ่ม จำนวน 15 คน ปัจจุบันมีจำนวนสมาชิกทั้งหมด 20 คน โดยมีการถือหุ้นคนละ 350 บาท ส่วนเงินทุน หมุนเวียนนั้นขณะนี้มีประมาณ 65,000 บาท ในด้านการพัฒนาฝีมือทางกลุ่มมีการพัฒนาฝีมือ อยู่ตลอดเวลา ซึ่งจะเห็นได้จากการได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนกลุ่มทอผ้าฝ้ายระดับอำเภอในโครงการ คัดสรรสุดยอดผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ และได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ คือ สำนักงานเกษตรจังหวัด กรมส่งเสริมสหกรณ์ สำนักงานพัฒนาชุมชนอำเภอเมืองสรวง ศูนย์การศึกษา นอกโรงเรียนอำเภอเมืองสรวง และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธกส.)

3.2 สถานที่ผลิตของกลุ่มทอผ้าฝ้าย-ไหม บ้านหนองผืออยู่บ้านเลขที่ 24 ม.1 ต.หนองผือ อ. เมืองสรวง จ. ร้อยเอ็ด

3.3 กระบวนการผลิตผ้าไหมมัดหมี่ มีขั้นตอนดังนี้

3.3.1 การคัดเลือกวัตถุดิบ

1) เส้นใยที่ใช้ในการทอแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ ไหมสีเหลือง โดยใช้พันธุ์ไหม เช่น พันธุ์นางแดงซึ่งเป็นพันธุ์พื้นบ้าน พันธุ์ขาวละออง พันธุ์นางลาย และไหมสีขาวซึ่งเป็นไหมญี่ปุ่น

2) สีย้อมผ้าแบ่งเป็น 2 ชนิด คือ สีย้อมธรรมชาติที่มีอยู่ในหมู่บ้านและชุมชน เช่น ต้นขี้เหล็กจะให้สีเขียว เปลือกต้นม่วงน้อย ต้นลิ้นฟ้า สมอจะให้สีกากี และต้นฝางจะให้สีชมพู เป็นต้น เมื่อตั้งกลุ่มใหม่ๆ กลุ่มทอผ้าฝ้าย-ไหม บ้านหนองผือ จะใช้วิธีการย้อมด้วยสีย้อมธรรมชาติ แต่ปัจจุบัน หันมาใช้สีย้อมเคมี

3.3.2 กระบวนการผลิต มีขั้นตอนดังนี้

1) การออกแบบลวดลาย ซึ่งทางกลุ่มใช้ในการทอคือลายประจำจังหวัดชื่อ ลายสาเกตุ ซึ่งเป็นลายที่ทางกลุ่มต้องการเผยแพร่ลวดลายผ้าให้ได้รับความนิยมของตลาด

2) การเตรียมเส้นยืน มีขั้นตอนดังนี้

2.1) การลงแป้งและการกรอด้ายเข้าหลอด นำเส้นไหมที่ฟอกขาวและ ย้อมสีแล้วนำมาชุบแป้งบิดให้แห้ง กระตุกให้เส้นแตก นำไปตากแดดให้แห้งเพื่อให้เส้นไหมผิวเรียบ ต่อจากนั้นเอาเส้นไหมไปกรอเข้าหลอด โดยใช้หลอดละ 1 ไจ

2.2) การเดินด้าย เครื่องเดินด้ายมีราวสำหรับบรรจุหลอดเส้นไหมและแคร่ สำหรับเดินด้ายราวมีขนาดใหญ่พอดีสำหรับบรรจุด้ายได้ 200 หลอด และแคร่สามารถบรรจุเส้นยืนได้ ราว 200 หลา เมื่อเดินด้ายเสร็จเรียบร้อยแล้วต้องปลดเส้นยืนออกมาจากแคร่ ขมวดให้เป็นลูกโซ่ เพื่อกันมิให้ยุ่งเก็บลงหีบต่อไป

2.3) การหวี คือ การแผ่เส้นจากลักษณะที่เป็นกำให้กระจายออกเป็นแผ่น เรียบๆ สม่ำเสมอกัน ม้วนเก็บเข้าแกนของกงพัดสำหรับตั้งบนกี่ต่อไป ขั้นแรกจะต้องเอาปลายด้านหนึ่ง ของกำเส้นยืนสอดเข้าไปในม้า จัดด้ายร้อยเส้นยืนเข้าฟันหวีซึ่งมีจำนวนพัน และส่วนกว้างตามต้องการ โดยผูกเข้ากับแกนกงพัดม้วนด้าย ในการหวีด้ายจำเป็นต้องใช้ผู้ปฏิบัติ 2 คนๆ หนึ่งม้วนกงพัด อีกคนหนึ่งใช้ฟันหวีๆ ด้ายให้เรียบร้อยสม่ำเสมอกัน จึงนำไปขึงบนกี่สำหรับเก็บตะกอต่อไป

2.4) การเก็บตะกอ ตะกอที่ใช้ในการทอผ้าไหมเป็นแบบตะกอด้าย (ฝ้าย) เส้นยืนแต่ละเส้นจะถูกคล้องไว้ด้วยห่วงเส้นด้ายสองอัน อันหนึ่งคือ อันบน ใช้สำหรับดึงเส้นยืนขึ้น ส่วน อันล่างใช้ดึงเส้นยืนลง การทอผ้าเป็นลวดลายต่างๆ นั้นขึ้นอยู่กับการเก็บตะกอ ในจำนวนตะกอที่ใช้ สำหรับผ้ายกที่มีลวดลายสวยงามอาจใช้ถึง 200 ตะกอก็มี หลังจากการเก็บตะกอแล้วเส้นยืนจะถูกแต่ง ให้เรียบร้อยบนกี่สำหรับทอต่อไป

3) การเตรียมเส้นพุ่ง เริ่มจากการกรอเส้นไหมที่ฟอกและย้อมสีเรียบร้อยเข้าระวิง เข้าอักกรอจากอักเข้าหลอดด้ายพุ่ง โดยหลอดไม้นี้มีรูทะลุกลางตลอดขนาดประมาณเศษหนึ่ง ส่วนแปดนิ้วยาวประมาณ 2 นิ้ว นำเอาหลอดไม้ที่เตรียมมาสวมเข้าไปกับเหล็กไนของหลา เอาเงื่อนด้าย ในกงทำให้เปียกนิดหน่อยแล้วมาวางบนผิวหลอดด้าย จากนั้นหมุนแขนหลาเบาๆ ด้าย ก็จะม้วนติด อยู่บนหลอดหมุนไปจนกะว่าพอประมาณ คือ ไม่เต็มจนเกินไป เพราะจะทำให้ลำบากในการเข้ากระสวย

4. วิเคราะห์ปัญหา และวางแผนการดำเนินการปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์

4.1 การวิเคราะห์ปัญหาและความต้องการของกลุ่มทอผ้าฝ้าย-ไหม บ้านหนองผือ 24 ม.1 ต.หนองผือ อ.เมืองสรวง จ.ร้อยเอ็ด สามารถวิเคราะห์ได้ดังนี้

4.1.1 ด้านงบประมาณ ประเด็นด้านงบประมาณที่ทางกลุ่มนำเสนอให้ทราบก็คือ การขาดการสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบต.) พบว่า อบต. มุ่งส่งเสริมด้านงบประมาณ ให้กับกลุ่มที่จัดตั้งขึ้นใหม่ โดยให้เหตุผลว่าต้องการขยายฐานการใช้งบประมาณให้ครบทั้งหมู่บ้าน ซึ่งทางกลุ่มมีความต้องการให้ อบต. หันมาให้ความสนใจสนับสนุนทางด้านงบประมาณให้กับ กลุ่มอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์

4.1.2 ด้านกำลังคน ทางกลุ่มมีความต้องการขยายฐานการทำงานหรือต้องการเพิ่ม จำนวนสมาชิกให้มากขึ้น เพื่อร่วมมือกันผลิตสินค้าให้ทันตามความต้องการของตลาด

4.1.3 ด้านลวดลาย ทางกลุ่มต้องการเผยแพร่และพัฒนาการออกแบบลายสาเกตุ ซึ่งเป็นลายประจำจังหวัดร้อยเอ็ดให้เป็นที่รู้จักและนิยมทั่วไป

4.2 การวางแผนปรับปรุงคุณภาพผลิตภัณฑ์ผ้าไหมมัดหมี่ของกลุ่มทอผ้าฝ้าย-ไหม บ้านหนองผือ 24 ม.1 ต.หนองผือ อ.เมืองสรวง จ.ร้อยเอ็ด ผู้วิจัยได้นำสภาพปัญหาและความต้องการ ของกลุ่มมาวางแผนพัฒนาผลิตภัณฑ์ ดังนี้

4.2.1 ผู้วิจัยร่วมกับกลุ่มทอผ้าฝ้าย-ไหม ศึกษาปัญหาและสาเหตุของปัญหาในการ ทอผ้าไหมมัดหมี่ ตลอดจนกำหนดความต้องการของกลุ่มและร่วมกันในการจัดลำดับความสำคัญ พิจารณาแนวทางวิธีการในการแก้ปัญหาตามความต้องการและทักษะความสามารถของ กลุ่ม

4.2.2 ผู้วิจัยร่วมกับกลุ่มทอผ้าฝ้าย-ไหม วางแผนพัฒนา โดยวางแผนกำหนดวิธีการและ แนวทางการดำเนินงานทอผ้าไหมมัดหมี่

4.2.3 กลุ่มทอผ้าฝ้าย-ไหม ดำเนินการ เพื่อแก้ปัญหาผลิตภัณฑ์ผ้าไหมมัดหมี่

4.2.4 ผู้วิจัยร่วมกับกลุ่มทอผ้าฝ้าย-ไหม ประเมินผลผลิตภัณฑ์ผ้าไหมมัดหมี่ ตาม เกณฑ์มาตราฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.)

4.2.5 นำส่งตัวอย่างผลิตภัณฑ์ผ้าไหมมัดหมี่ ส่งให้หน่วยงานตรวจสอบคุณภาพ ผลิตภัณฑ์ ที่หน่วยตรวจสอบวิทยาลัยเทคนิคบุรีรัมย์

5. ดำเนินการปรับปรุงกระบวนการผลิต ผู้วิจัยได้นำตัวแทนกลุ่มทอผ้าฝ้าย-ไหม เข้าร่วม โครงการอบรมการพัฒนาคุณภาพและวิเคราะห์ความบกพร่องของผลิตภัณฑ์สิ่งทอและหีบห่อ บรรจุภัณฑ์ (ในโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ กลุ่มผลิตภัณฑ์ ผ้าทอ OPC ปี 2547) เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ. 2547 ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา โดยมี รศ.ทรงพันธ์ วรรณมาศ อ.อ้อยทิพย์ เกตุเอม และอ.พัชรี รัตนพันธุ์ เป็นวิทยากร ซึ่งรายละเอียดดังนี้

5.1 ตัวแทนกลุ่มร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์กับวิทยากร

5.2 รศ.ทรงพันธ์ วรรณมาศ บรรยายเกี่ยวกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนว่า มาตรฐาน ผลิตภัณฑ์ชุมชนคืออะไร มีประโยชน์อย่างไร มีกระบวนการอย่างไรที่จะได้มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ตลอดจนกระบวนการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์

5.3 รศ.ทรงพันธ์ วรรณมาศ และอ.อ้อยทิพย์ เกตุเอม วิเคราะห์ความบกพร่องของ ผลิตภัณฑ์สิ่งทอของกลุ่มทอผ้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

5.4 อ.พัชรี รัตนพันธุ์ บรรยายเกี่ยวกับหีบห่อบรรจุภัณฑ์สิ่งทอ ในโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์

6. พัฒนาให้เกิดระบบควบคุมคุณภาพที่มีประสิทธิภาพ ระบบควบคุมคุณภาพเป็น ระบบที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง สำหรับการผลิตผ้าเพื่อให้มีคุณภาพเป็นไปตามที่กำหนดหลักสำคัญของ การควบคุมคุณภาพ (Quality control – QC) คือการควบคุมกระบวนการผลิต การควบคุมวัตถุดิบ และผลิตภัณฑ์เพื่อให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์เป็นไปตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนผ้ามัดหมี่ที่กำหนด โดยสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ดังนี้คือ

6.1 กระบวนการผลิต ซึ่งมีกระบวนการดังนี้

6.1.1 การออกแบบลวดลาย

6.1.2 การเตรียมเส้นยืน

6.1.3 การเตรียมเส้นพุ่ง

6.2 วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตผ้าไหมมัดหมี่ควรมีลักษณะ ดังนี้คือ

6.2.1 ความสม่ำเสมอของเส้นไหม เช่น ขนาดของเส้นไหมที่ผลิตในแต่ละรุ่น ควรมีขนาดแน่นอน เกลียวของเส้นไหมควรจะมีจำนวนเกลียวต่อนิ้วสม่ำเสมอ และความสม่ำเสมอ ของเส้นไหม

6.2.2 สิ่งแปลกปลอมติดเข้าไปในผลิตภัณฑ์ระหว่างกระบวนการผลิต

6.2.3 ความแตกต่างของอัตราส่วนผสม

6.3 ผลิตภัณฑ์

6.3.1 เอกลักษณ์เฉพาะของผ้ามัดหมี่ มีรายละเอียดดังนี้

1) ช่วงรอยต่อของสีในเส้นด้ายที่เกิดจากการมัดย้อมจะปรากฏรอยซึมของสีที่ซึม เข้าไปตรงส่วนที่มัดไว้ในขณะย้อมสี

2) ความเหลื่อมของลวดลายอันเนื่องมาจากการสอดเส้นด้ายพุ่งด้วยมือ และการขึงเส้นด้ายยืนและการสอดเส้น ด้ายพุ่งแต่ละเส้นในขณะทอมีความตึงไม่เท่ากัน

3) รายละเอียดของลวดลายแต่ละรูปอาจไม่ซ้ำกันเลยอันเนื่องมาจากการมัดย้อม เส้นด้าย และความถี่ของเส้นด้ายพุ่งจะไม่สม่ำเสมออันเนื่องจากแรงกระทบเส้นด้ายพุ่งด้วยมือ

4) สีผ้า ไม่ปรากฏรอยของเส้นด้ายสีหนึ่ง หรือส่วนของผ้าสีใดสีหนึ่งติดสีจาก เส้นด้ายอื่นที่อยู่ติดกันอันเนื่องมาจากสีตกหรือสีซึมเข้ามาผสมกันจนเกิดเป็นอีกสีหนึ่งอย่างเห็นได้ชัด ยกเว้นรอยซึมของสีในช่วงรอยต่อของสีในเส้นด้ายที่เกิดจากการมัดย้อม

7. ส่งตัวอย่างเพื่อการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) ผู้วิจัยได้นำส่งตัวอย่าง ผลิตภัณฑ์ผ้ามัดหมี่ของกลุ่มทอผ้าฝ้าย-ไหม เพื่อตรวจสอบมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ที่หน่วยตรวจสอบวิทยาลัยเทคนิคบุรีรัมย์ จ.บุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2548 มผช.17(1) หมายเลขตัวอย่างที่ สอจ.ร.37-17(1)-70-รอ/1 ผลิตภัณฑ์ชุมชน ผ้าไหมมัดหมี่

8. ติดตามผลการพัฒนาหรือผลการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) ผู้วิจัยได้ สอบถามผลการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) ของกลุ่มทอผ้าฝ้าย-ไหม ไปที่สำนักงาน คณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ปรากฏว่าผลการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ชุมชน ผ้ามัดหมี่ได้ผ่านเกณฑ์คุณภาพมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) ผ้าไหมมัดหมี่ เลขที่ ม.ผ.ช. 17(1)/2546 ออกใบรับรองวันที่ 24 กุมภาพันธุ์ พ.ศ. 2549 และใบรับรองหมดอายุวันที่ 23 กุมภาพันธุ์ พ.ศ. 2552 จากสำนักงานคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)

9. รายงานการปฏิบัติงานพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ ได้มีการนำเสนอผลการวิจัย ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ระหว่างวันที่ 15-16 กุมภาพันธุ์ พ.ศ. 2549

ผลการวิจัย

เมื่อผู้วิจัยเข้าไปร่วมพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ โดยการปฏิบัติการอย่างมีส่วนร่วมกับกลุ่ม ที่ต้องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้รับการรับรอง มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) ในระดับ 5 ดาว และพบว่า ผลิตภัณฑ์ผ้ามัดหมี่ของกลุ่มทอผ้าฝ้าย-ไหม ได้รับ การรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ระดับ 3 ดาว และยังได้รับรางวัลอันดับที่ 3 จากการประกวด ผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้ายของจังหวัดร้อยเอ็ด ประจำปี พ.ศ. 2545 การนำผลิตภัณฑ์ออกจำหน่ายนั้น ได้เริ่มต้นจากขายเฉพาะในหมู่บ้าน ตามงานแสดงสินค้าต่างๆ ต่อมาฝีมือเป็นที่รู้จักของผู้คนทั่วไป จึงรับทอผ้าตามที่ลูกค้าสั่งและทอผ้า เพื่อเก็บไว้ขายในช่วงเทศกาลต่างๆ เช่น งานบวช งานแต่งงานประจำปีของจังหวัดร้อยเอ็ด และประกอบกับปัจจุบันหน่วยงานราชการในจังหวัดร้อยเอ็ด ได้กำหนดนโยบายให้เจ้าหน้าที่ ข้าราชการ ทุกหน่วยงานใส่ชุดผ้าไทย เช่น ผ้าฝ้าย ผ้าไหมลายประจำ จังหวัด จึงส่งผลให้ทางกลุ่มทอผ้าฝ้าย-ไหม สามารถจำหน่ายสินค้าได้มากขึ้น แต่ยังได้ราคาถูกไม่คุม การแรงงานและเวลาที่เสียไป

กลุ่มทอผ้าฝ้าย-ไหม จึงสมัครเข้าร่วมโครงการพัฒนาคุณภาพผลิตภัณฑ์ผ้าไหม ให้ได้ การรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) ระดับ 5 ดาว จากสำนักงานคณะกรรมการมาตรฐาน ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ดังนั้นผู้วิจัยจึงได้จัดกิจกรรมเพื่อเสริมทักษะและองค์ความรู้ของ กลุ่มทอผ้าฝ้าย-ไหม บ้านหนองผือ โดยการนำตัวแทนกลุ่มเข้าร่วมโครงการอบรมการพัฒนาคุณภาพ และวิเคราะห์ความบกพร่องของ ผลิตภัณฑ์สิ่งทอและหีบห่อบรรจุภัณฑ์ (ในโครงการหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ กลุ่มผลิตภัณฑ์ผ้าทอ OPC ปี 2547) ดังนั้นภายหลังการอบรม กลุ่มทอผ้าฝ้าย-ไหม สามารถผลิตผ้าไหมมัดหมี่ได้ตามเกณฑ์มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนที่กำหนด โดยสำนักงาน มาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ดังนี้คือ

1. เอกลักษณ์เฉพาะของผ้ามัดหมี่ ซึ่งทางกลุ่มทอผ้าฝ้าย-ไหม บ้านหนองผือ พัฒนาปรับปรุง จนกระทั่งได้เอกลักษณ์เฉพาะ ดังนี้

1.1 มีช่วงรอยต่อของสีในเส้นไหมที่เกิดจากการมัดย้อมจะปรากฏรอยซึมของสีที่ซึมเข้าไป ตรงส่วนที่มัดไว้ในขณะย้อมสีสม่ำเสมอ

1.2 ความเหลื่อมของลวดลายอันเนื่องมาจากการสอดเส้นด้ายพุ่งด้วยมือและการขึง เส้นด้ายยืนและการสอดเส้น ด้ายพุ่งแต่ละเส้นในขณะทอมีความตึงเท่ากัน

2. สีผ้าไหมมัดหมี่ของกลุ่มทอผ้าฝ้าย-ไหม บ้านหนองผือ ไม่ปรากฏรอยของเส้นด้ายสีหนึ่ง หรือส่วนของผ้าสีใดสีหนึ่ง ติดสีจากเส้นด้ายอื่นที่อยู่ติดกันอันเนื่องมาจากสีตกหรือสีซึมเข้ามาผสมกัน จนเกิดเป็นอีกสีหนึ่งอย่างเห็นได้ชัด ยกเว้นรอยซึมของสีในช่วงรอยต่อของสีในเส้นด้ายที่เกิดจาก การมัดย้อม

จากกระบวนการดังที่กล่าวข้างต้น ผลิตภัณฑ์ผ้าไหมมัดหมี่ของกลุ่มทอผ้าฝ้าย-ไหม จึงได้ผ่านการตรวจสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) ผ้าไหมมัดหมี่ เลขที่ ม.ผ.ช. 17(1)/2546 ออกใบรับรองวันที่ 24 กุมภาพันธุ์ พ.ศ. 2549 และใบรับรองหมดอายุวันที่ 23 กุมภาพันธุ์ พ.ศ. 2552 จากสำนักงานคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.)

บรรณานุกรม

เกษม พิพัฒน์ปัญญานุกูล. การควบคุมคุณภาพงานเตรียมสิ่งทอเพื่อการย้อมพิมพ์. สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยี (ไทย- ญี่ปุ่น) : กรุงเทพฯ, 2537.

กิตติ ลิ่มสกุล. แนวทางการพัฒนาท้องถิ่นโดยประชาชนมีส่วนร่วมหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์.(Online).Available from : http://www.Thaitambon.com/OTOP/OTOP Process/ProcessPage1.htm. Accessed24 Apr 2004.

ดารา เหล่าพุทธา. ประธานกลุ่มทอผ้าฝ้าย-ไหม บ้านหนองผือ. สัมภาษณ์, 14-25 ธันวาคม 2548.

ทรงพันธ์ วรรณมาศ. ผ้าไทยลายอีสาน. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์โอเดียนสโตร์, 2534.

นวลแข ปาลิวนิช. ความรู้เรื่องผ้าและเส้นใย.กรุงเทพฯ : บริษัทซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด, 2542.

ปัญญา แสงสุนานนท์. สมบัติอีสานใต้. พุทไธสง เมืองผ้าไหม. บุรีรัมย์ : วิทยาลัยครูบุรีรัมย์, 2535.

พัฒนา กิติอาษา. ผ้าอีสานจากมิติทางมนุษยวิทยา.ขอนแก่น : มหาวิทยาลัยขอนแก่น, 2532.

มหาวิทยาลัยราชภัฏบรีรัมย์. คู่มือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าทอมือ. บุรีรัมย์ : มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์, 2548.

สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม. หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ชุมชน. สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม : กรุงเทพฯ, 2546.

อัจฉราพร ไศละสูต. ความรู้เรื่องผ้า. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สร้างสรรค์-วิชาการ, 2539.

ภาพกิจกรรม

Leave a Reply