โดย สมาพร คล้ายวิเชียร

กลุ่มประเทศตะวันออก หมายถึง ภูมิภาคเอเชียตะวันออก อันได้แก่ ประเทศจีน ญี่ปุ่น  เกาหลี ประเทศเหล่านี้มีความเกี่ยวข้องกับกระบวนการสร้างภาพพิมพ์ และการเผยแพร่ภาพพิมพ์มาเป็นเวลายาวนาน บ้างช่วงเทคโนโลยีทางภาพพิมพ์ของประเทศกลุ่มดังกล่าวยังให้อิทธิพลกับประเทศทางยุโรป ด้วยเหตุนี้ภาพพิมพ์ในกลุ่มประเทศตะวันออกจึงมีเนื้อหาสาระที่น่าสนใจ ผู้เขียนจึงได้ทำการศึกษาค้นคว้า และรวบรวมเนื้อหาสาระของภาพพิมพ์ในกลุ่มประเทศตะวันออกดังมีรายละเอียดโดยสังเขปดังนี้

1. ภาพพิมพ์ประเทศจีน

ประมาณ 798 ปีก่อนคริสต์กาล จีนเป็นชนชาติแรกที่คิดวิธีทำภาพพิมพ์ขึ้นด้วย การแกะสลักตราต่างๆ ลงบนแผ่นหิน กระดูกสัตว์ งาช้างหรือเขาสัตว์ชนิดต่างๆ เป็นต้น จากหลักฐาน พบว่า มีการพิมพ์ตราเหล่านั้นประทับลงบนครั่ง ขี้ผึ้งหรือดินเหนียว ทั้งนี้เพราะชาวจีนนิยมแกะสลัก ตราประจำตระกูล ส่วนองค์จักรพรรดิจะมีตราหยกเป็นตราประจำแผ่นดินหรือตราประจำพระองค์ ซึ่งแกะสลักโดยช่างฝีมือชั้นสูงมีความละเอียดประณีตปลอมแปลงได้ยาก เมื่อพระเจ้าแผ่นดินมอบ พระราชโองการต่างๆ ให้อำมาตย์ไปแจ้งด้วยวาจาก็ต้องถือรอยตราแผ่นดินที่ประทับลงบนครั่งหรือ ดินเหนียวไปแสดงด้วย

ในปี ค.ศ. 105 ไซลุน (Chylun) เสนาบดีจีนคิดค้นกรรมวิธีทำกระดาษที่ประดิษฐ์จาก เยื่อปอ เปลือกไม้และเศษผ้าขึ้นมาได้เป็นครั้งแรก จึงได้กลายเป็นวัสดุสำคัญสำหรับการเขียนและการ พิมพ์ในเวลาต่อมา

ในปี ค.ศ. 175  ได้มีการใช้กลวิธีภาพพิมพ์ถู (Rubbing) ขึ้น โดยการนำกระดาษมาวาง ทาบบนแผ่นหินที่ได้สลักวิชาความรู้ต่างๆ ไว้ แล้วใช้ถ่านหรือสีทาลงบนกระดาษสีจะติดบนกระดาษ ในส่วนที่หินนูนขึ้นมา นับว่าเป็นกลวิธีนี้ช่วยเปิดโอกาสให้กับผู้สนใจศึกษาหาความรู้ได้สะดวกขึ้น

ต่อมาในปี  ค.ศ. 400 ได้มีการประดิษฐ์หมึกแท่งขึ้นใช้ โดยใช้เขม่าไฟเป็นเนื้อสีผสม กาวที่เคี่ยวจากกระดูกสัตว์ หนังสัตว์และเขาสัตว์เป็นตัวยึดแล้วทำให้แข็งเป็นแท่งซึ่งเรียกว่า “บั๊ก”  เวลาจะใช้เขียนก็นำมาฝนกับน้ำบนแท่นสำหรับฝนหมึก ต่อมาในปี ค.ศ. 450 เกิดการพิมพ์ด้วย หมึกบนกระดาษ โดยใช้ตราจุ่มหมึกแล้วประทับลงบนกระดาษลักษณะคล้ายๆ กับการประทับตรายาง ในปัจจุบัน

ในปี ค.ศ. 575 เริ่มมีการพิมพ์ด้วยแม่พิมพ์ไม้ โดยการแกะสลักเป็นลวดลาย หรือ ตัวหนังสือที่ต้องการพิมพ์ลงบนไม้เอาหมึกทาแล้วกดลงบนกระดาษ ในระยะแรกมักจะนิยม พิมพ์ยันต์ของศาสนาเต๋า โดยแกะเป็นลักษณะตราประทับแต่ทำด้วยไม้ขนาดใหญ่ จากนั้นทาหมึก แล้ว กดลงบนกระดาษพิมพ์

ปี ค.ศ. 650 เป็นช่วงที่พระพุทธศาสนาแพร่หลายอย่างมากในประเทศจีน  พระสงฆ์ใน ศาสนาพุทธได้คิดค้นกลวิธีภาพพิมพ์ผืนผ้าแบบต่างๆ ขึ้น กลวิธีภาพพิมพ์ถู กลวิธีภาพพิมพ์แกะไม้ กลวิธีภาพพิมพ์ลายฉลุ

จนกระทั่งในปี ค.ศ. 868  วางเซียะ (Wang  Chieh) ได้พิมพ์หนังสือเล่มแรกขึ้นมีชื่อว่า  “วัชรสูตร” (Diamond  Sutra)  ลักษณะเป็นม้วนมีความยาว  17  ฟุต  กว้าง  10  ฟุต และยังคงตกทอด มาจนปัจจุบันนี้  หนังสือวัชรสูตรถูกค้นพบโดย  เซอร์  ออเรล  สไตน์ (Sir  Aurel  Stein)  ที่ผนังถ้ำทันฮวง (Tunhuang) ในประเทศจีนเมื่อปี ค.ศ. 1900 ตอนท้ายของหนังสือวัชรสูตรนี้ได้ระบุว่า พิมพ์เมื่อวันที่  16  พฤษภาคม  ค.ศ. 868

ต่อมาระหว่างปี ค.ศ. 1041-1045 ไปเซ็ง (Pi  Sheng)  ได้ค้นพบวิธีการที่เรียกว่า  “ตัวเรียงพิมพ์” คือ การใช้แม่พิมพ์ชนิดที่เป็นตัวเล็กๆ โดยใช้ดินเหนียวปั้นเป็นแท่งแล้วแกะเป็น รูปตัวพิมพ์นำไปตากแดดให้แห้งหรือชุบน้ำยาเคลือบเผาไฟแบบถ้วยชามลายคราม แล้วนำไปเผาไฟ ให้แข็งคล้ายอิฐ จากนั้นนำมาเรียงให้เป็นคำเป็นประโยค เมื่อพิมพ์เสร็จแล้วสามารถนำกลับไปเก็บ และสามารถนำมาผสมคำใหม่ในการพิมพ์ครั้งต่อไปได้

สรุปได้ว่า ประเทศจีนเป็นชาติแรกที่ค้นพบวิธีการพิมพ์ต่างๆ อย่างมากมาย ได้แก่  การพิมพ์แบบถู การพิมพ์ผิวนูน การพิมพ์ไม้ ตลอดจนการพิมพ์ผ่านฉาก  แต่การพิมพ์ของจีนกลับ นิยมใช้เฉพาะการพิมพ์ไม้อาจเกิดจากสาเหตุหลายประการคือ  ประการแรกการพิมพ์ของจีนไม่ได้รับ ความนิยม เพราะมีภาษาที่แตกต่างกันหลายแบบในแต่ละภูมิภาค ตัวอักษรจีนเป็นอักษรประเภท หนังสือภาพ (Pictograph) และเป็นตัวอักษรที่เป็นเครื่องหมายแทนความคิด (Ideograph)  ซึ่งคำพูดหนึ่งคำจะมีตัวอักษรแทนหนึ่งตัว ดังนั้นตัวอักษรของจีนจึงมีจำนวนมากนับพันตัวทำให้ ไม่เหมาะที่จะใช้ระบบเรียงพิมพ์ทีละตัว การใช้งานก็ไม่สะดวกเพราะเสียเวลาในการเลือกตัวอักษร ทีละตัวตามที่ต้องการ  สิ้นเปลืองเวลาและเสียค่าใช้จ่ายสูง ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าต่างกับหนังสือประเภท ผสมคำด้วยอักขระที่มีสระและพยัญชนะเพียงไม่กี่ตัว ต่อมาตัวอักษรจีนมีลักษณะการเขียนแบบ ลายมือประดิษฐ์ซึ่งเป็นศิลปะที่แสดงถึงความวิจิตรสวยงาม ภาพพิมพ์แกะไม้จึงเหมาะกับตัวอักษร แบบนี้และประการสุดท้ายอารยธรรมของจีนและวัตถุประสงค์การพิมพ์ของจีนไม่ได้เป็นการเผยแพร่ วิทยาการหรือ เพื่อรักษาความเก่าแก่ของงานเอาไว้เหมือนประเทศทางตะวันตก แต่เป็นการพิมพ์เพื่อ อนุรักษ์งาน จินตกวี คัมภีร์หรือบทกวีที่มีคุณค่าและเป็นที่ยอมรับนับถือเอาไว้เท่านั้น

2. ภาพพิมพ์ประเทศญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีพัฒนาการทางด้านภาพพิมพ์มาเป็นระยะเวลานาน  ภาพพิมพ์ญี่ปุ่น เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่สมัยนาระ (Nara ค.ศ.645-794) โดยได้รับอิทธิพลจากจีน จึงทำให้ในช่วงนี้ ไม่มีเอกลักษณ์ที่ชัดเจนของตน ซึ่งในปี ค.ศ. 770  พบการพิมพ์ บทสวดมนต์ทางพุทธศาสนาขึ้นเป็นชิ้นแรกเป็นคำสวดปัดรังควานขับไล่วิญญาณหรือผีร้ายให้พ้น โดยจัดพิมพ์จากพระราชเสาวนีย์ของมหาจักรพรรดิโชโตกุ (Shotoku) เพื่อจัดแจกจ่ายไปตามวัดทั่ว อาณาจักรญี่ปุ่นเป็นจำนวน 10,000 ฉบับ ปัจจุบันบทสวดมนต์นี้ยังมีปรากฏอยู่จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ของประเทศสหรัฐอเมริกา

สมัยโมโมยามา (Momoyama ค.ศ. 1573-1651) การทำภาพพิมพ์มีการพิมพ์ รูปภาพประกอบลงไปในตัวผลงานเป็นเรื่องราวทางวรรณคดีและภาพประกอบมีความสำคัญมากขึ้น จนส่งอิทธิพลในการสร้างสรรค์ให้สมัยเอโดะ

สมัยเอโดะ (Edo ค.ศ. 1651-1867) มีศิลปินชื่อ อิวาซะ มาตาเบอิ ได้ก่อตั้งสกุลช่าง ยูกิโยเอะ (Ukiyo-e) ซึ่งจัดเป็นยุคคลาสสิคภาพพิมพ์แกะไม้ของญี่ปุ่นที่ก้าวหน้ามากที่สุด  โดยเฉพาะ อย่างยิ่งภาพพิมพ์ที่เรียกว่า “อูกิโยเอะ” ซึ่งถือกำเนิดขึ้นมาพร้อมกับความชื่นชอบละครคาบูกิ (Kabuki)  ซึ่งเป็นละครประจำชาติของญี่ปุ่น คำว่า “ยูกิโยเอะ”  หมายถึง  รูปภาพที่เกี่ยวกับโลกลอยน้ำ  (Picture  of  the  Floating  World)  ภาพพิมพ์ในสกุลช่างนี้จะไม่จำกัดเฉพาะเรื่องราวทางศาสนาและ วรรณคดี แต่ได้นำเรื่องราวในชีวิตประจำวันของประชาชนมานำเสนอ เช่น แสดงภาพชีวิตของ ตัวละครคาบูกิ ภาพหญิงสาว  ซามูไร  เกอิชา ตลอดจนสภาพแวดล้อมและทิวทัศน์ของบ้านเมืองมีการ จัดวางองค์ประกอบแบบสองข้างไม่เท่ากันและการจัดพื้นที่ว่างต่างๆ ทำเกิดความรู้สึกรุ่นแรง ส่วนทาง ด้านการใช้สีนั้นใช้สีแบบแบนๆ ใช้เส้นง่ายๆ มีความใกล้เคียงกับงานจิตรกรรมมาก และในยุคนี้ ภาพพิมพ์ได้รับการยอมรับว่าเป็นงานภาพพิมพ์ที่มีแบบแผนยอดเยี่ยมมีการค้นหา แนวทางจนเป็นรูปแบบที่สะท้อนความบริสุทธิ์ของผลงาน ศิลปิน ภาพพิมพ์ที่มีชื่อเสียง อาทิเช่น อูตามาโระ  คิตากาวะ  (Utamaro  Kitagawa)

3. ภาพพิมพ์ประเทศเกาหลี

ประมาณปี พ.ศ. 1784 ได้มีการประดิษฐ์ตัวเรียงพิมพ์แบบโลหะขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศ เกาหลี หลังสือภาษาเกาหลีเล่มหนึ่งพิมพ์ในปี พ.ศ.1920 ระบุว่า พิมพ์ด้วยตัวเรียง การหล่อตัวพิมพ์ใน ประเทศเกาหลีนับว่าก้าวหน้ามาก ทั้งนี้เพราะการทุ่มเทความพยายามอย่างมากตามดำริของกษัตริย์ ไท จอง (Htai Tjong) ต่อมาใน พ.ศ.1946 ได้ตั้งโรงหล่อตัวพิมพ์ของทางราชการขึ้นและระหว่าง ค.ศ.1403-2516 ได้หล่อตัวพิมพ์ออกมาถึง 10 แบบ ต่อมาการหล่อตัวพิมพ์ได้ส่งอิทธิพลแพร่ไปยัง ประเทศจีนและประเทศญี่ปุ่น

จากวิวัฒนาการด้านการพิมพ์ในกลุ่มประเทศตะวันออก คือ จีน  ญี่ปุ่นนั้น แสดงให้เห็นว่า  จีนเป็นชนชาติแรกที่คิดค้นการทำภาพพิมพ์ขึ้น โดยการแกะสลักลงบนหิน หยก งาช้าง กระดูกสัตว์ และเขาสัตว์ เพื่อทำเป็นแม่พิมพ์แล้วกดแม่พิมพ์ลงบนดินเหนียว ครั่ง  ขี้ผึ้งหรือกระดาษให้เกิดลักษณะ เป็นรอย ความรู้การพิมพ์นี้ได้เผยแพร่ไปยังประเทศทางตะวันตก และประเทศเพื่อนบ้านที่สำคัญได้แก่  ประเทศญี่ปุ่น  เกาหลี  ซึ่งประเทศเกาหลีได้พัฒนาความรู้เรื่องการพิมพ์นี้จนสามารถทำตัวเรียงพิมพ์ เป็นโลหะสำเร็จ ในส่วนของประเทศญี่ปุ่นก็ได้พัฒนาการพิมพ์ขึ้นจนเป็นที่ยอมรับในด้านของศิลปะ ภาพพิมพ์ที่มีคุณค่า ซึ่งมีสกุลช่างภาพพิมพ์แกะไม้ที่มีชื่อเสียง คือ สกุลช่างอูกิโยเอะที่สามารถ สร้างสรรค์ผลงานภาพพิมพ์ได้อย่างงดงามและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว  ดังจะเห็นได้จากประเทศญี่ปุ่น ได้ให้อิทธิพลแก่ศิลปะของประเทศทางตะวันตกหรือยุโรปในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19



Leave a Reply