โดย สมาพร คล้ายวิเชียร 

 

     บทความเรื่อง “ภาษาภาพ:คืนที่มีดาวพราวฟ้า” Visual Language : The Starry Night มีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอเนื้อหาของภาษาภาพ ที่มนุษย์ใช้สื่อสาร สร้างความเข้าใจร่วมกันได้ ไม่ว่าจะเป็นชนชาติใด หรือใช้ภาษาอะไร ทั้งนี้เพราะการรับรู้ภาษาภาพ เกิดจากการมองเห็นด้วยตา จากนั้นไปผ่านการประมวลผลของสมองและจิตใจ ทำให้เกิดการรับรู้และทำความเข้าใจ ซึ่งการรับรู้ของ แต่ละคนขึ้นอยู่กับประสบการณ์ การฝึกฝน การได้เห็นและการสังเกตผลงานศิลปะ แต่การแปลความหมายของภาษาภาพนั้น มีความแตกต่างจากภาษาเขียน  เพราะภาษาเขียน มีหลักภาษาหรือไวยกรณ์ที่ค่อนข้างตายตัว แต่ภาษาภาพไม่มีกฎเกณฑ์ที่ตายตัวแน่นอน สามารถ แปลความหมายได้มากมายหลายแนวทาง ดังนั้นในการแปลความหมายของภาษาภาพจะต้อง ฝึกทักษะทางการรับรู้ภาษาภาพที่ประกอบด้วย ส่วนมูลฐานทางศิลปะ อันได้แก่  เส้น รูปร่าง  รูปทรง  สี แสงเงา ฯลฯ และหลักการทางศิลปะ อันได้แก่ จังหวะ การเคลื่อนไหว ดุลยภาพ ฯลฯ มาประกอบกัน เป็นผลงานศิลปะที่ศิลปินใช้เป็นภาษาในการสื่อสารแนวคิด ความหมาย จินตนาการ และมีคุณค่าทาง ความงาม
     ในบทความนี้ผู้เขียนได้นำเสนอภาษาภาพ  คืนที่มีดาวพราวฟ้า (The Starry Night ) ผลงาน ของศิลปินที่มีชื่อเสียงระดับโลก ชาวดัตช์ วินเซนต์ แวนโก๊ะห์ (Vincent Van Gogh)  ซึ่งเขาได้ถ่ายทอด อารมณ์ ความรู้สึกถึง ความเหงา ความโดดเดี่ยว ความทุกข์ทรมาน และพลังความเคลื่อนไหวที่อยู่ใน ความหยุดนิ่งของบรรยากาศ  ตลอดจนเป้าหมายที่ต้องการจะเดินทางไปสู่สรวงสวรรค์ด้วยความตาย  

 บทนำ

     อริสโตเติล (Aristotle) นักปรัชญาชาวกรีก มีอายุอยู่ในราว 348-322 ก่อนคริสตกาล ได้กล่าวไว้ว่า มนุษย์เป็นสัตว์สังคม  (Social Animal) มีธรรมชาติที่จะต้องอยู่ร่วมกับคนอื่น มีการติดต่อ สัมพันธ์ซึ่งกันและกัน ไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่อย่างอิสระตามลำพังได้  ดังนั้น สังคมจึงเกิดขึ้น อริสโตเติล ยังย้ำว่า มนุษย์เพียงคนเดียวนั้น  ไม่สามารถสืบเชื้อสาย ไม่สามารถป้องกันตนเองและไม่สามารถเลี้ยงชีพอยู่ได้นาน
     เนื่องจากมนุษย์เป็นสัตว์สังคม ตามที่ได้กล่าวมา มนุษย์จึงต้องอยู่ร่วมกันเป็นกลุ่ม และเมื่อ อยู่กันเป็นกลุ่มก็ต้องมีการติดต่อสื่อสารกัน เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน ทั้งในกลุ่มเดียวกันและกลุ่มอื่นๆ ในระยะเริ่มแรกมนุษย์อาจจะใช้เพียงการแสดงกิริยาท่าทางต่างๆ หรือเปล่งเป็นเสียง เพื่อสื่อ ความหมายแสดงความต้องการหรือไม่ต้องการ ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของภาษาพูด และเพื่อให้ การสื่อสารนั้นมีความแน่นอนและชัดเจนตรงกัน  ก็อาจจะใช้วิธีขีดเขียนเป็นเส้น เป็นรูปร่าง หรือกำหนด สัญลักษณ์ เพื่อสื่อความหมายสร้างความเข้าใจร่วมกันให้ได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของ ภาษาเขี

     ภาษาเขียน มีทั้งแบบที่ใช้เส้นขีดเขียนเป็นรูปร่าง เป็นตัวอักษรและแบบที่ใช้รูปภาพและ สัญลักษณ์  แบบที่เป็นเส้น ขีดเขียนเป็นรูปร่าง เป็นตัวอักษรนั้น จะกำหนดให้เป็นพยัญชนะ เป็นสระ และนำมาประสมเป็นคำ เป็นเสียง และสร้างเป็น ประโยคตามหลักภาษาหรือไวยกรณ์  เพื่อสื่อ ความหมายสร้างความเข้าใจร่วมกัน เช่น ภาษาของชาว สุเมเรียน แห่งอาณาจักรเมโสโปเตเมีย (Mesopotamia) แหล่งอารยธรรมโบราณลุ่มแม่น้ำไทกรีส และ ยูเฟรติส ชาวสุเมเรียนใช้อักษรที่เรียกว่า “คูนีฟอร์ม” (Cuneiform)  สร้างรูปร่างต่างๆ นับพันแบบ แทนคำแต่ละคำ โดยใช้ปลายไม้รูปลิ่มกดลงบน แผ่นดินเหนียว จากนั้นนำไปตากแดดให้แห้ง แล้วนำไปเผาไฟเพื่อความแข็งแรงทนทาน

อักษรcuneiform
อักษรcuneiform

     ส่วนแบบที่เป็นรูปภาพและสัญลักษณ์ มนุษย์จะขีดเขียนเป็นรูปนก รูปปลา หรือสิ่งของ เครื่องใช้ต่างๆ เช่น  ถ้วย ชาม เป็นต้น รูปภาพเหล่านี้ สามารถเข้าใจได้ง่าย  เพราะเป็นสิ่งที่มนุษย์ เคยพบเห็นร่วมกันเป็นปกติ อยู่แล้ว เช่น  อักษรเฮียโรกลิฟฟิค (Hieroglyphic) ของชาวอียิปต์ แหล่งอารยธรรมโบราณลุ่มแม่น้ำไนล์ ซึ่งมีทั้งที่เป็นรูปภาพและเป็นสัญลักษณ์นับพันตัว โดยบันทึก ลงบนแผ่นหินหรือบนกระดาษปาปิรัส

อักษรอียิปต์
อักษรอียิปต์

     แต่ภาษาเขียนที่ใช้ตัวอักษรหรือพยัญชนะ ในการสื่อความหมาย ก็มีข้อจำกัด คือไม่สามารถ สื่อสารเข้าใจกันได้ทั่วไป  แต่จะใช้สื่อสารได้เฉพาะในกลุ่มคนที่ใช้ภาษาเดียวกันเท่านั้น  ส่วนกลุ่มคน ที่ใช้ภาษาอื่น ถ้าไม่ได้เรียนรู้ก็ไม่สามารถสื่อสารเข้าใจกันได้ แต่มนุษย์ก็สามารถสื่อสารกันได้ด้วย ภาษาภาพ (Visual Language) ซึ่งเป็นภาษาที่มนุษย์สามารถเข้าใจร่วมกันได้ ไม่ว่าชาติใด ภาษาใด

 

ภาษาภาพ

     ภาษาภาพ (Visual Language) เป็นพื้นฐานสำคัญของการสร้างสรรค์ผลงานทางทัศนศิลป์ ทุกแขนง ภาษาภาพประกอบด้วยส่วนมูลฐานทางศิลปะ (Elements of Art) อันได้แก่  เส้น รูปร่าง  รูปทรง  สี แสงเงา ฯลฯ และหลักการทางศิลปะ (Principles of Art) อันได้แก่ จังหวะ การเคลื่อนไหว ดุลยภาพ ฯลฯ มาประกอบกันเป็นผลงานศิลปะที่ศิลปินใช้เป็นภาษาในการสื่อสารแนวคิด ความหมาย จินตนาการ มีคุณค่าทางสุนทรียะ (Aesthetics) หรือมีคุณค่าทางความงาม ซึ่งการนำส่วนมูลฐานทาง ศิลปะและหลักการทางศิลปะมาประกอบกัน เรียกว่า “การจัดองค์ประกอบ” (Composition)
     การแปลความหมายของภาษาภาพมีความแตกต่างไปจากภาษาเขียน เพราะภาษาเขียน มีหลักภาษาหรือไวยกรณ์ที่ค่อนข้างตายตัวแน่นอน แต่ภาษาภาพไม่มีกฎเกณฑ์ที่ตายตัว เป็นเรื่อง ของอารมณ์ ความรู้สึก ซึ่งสามารถแปลความหมายได้หลากหลายแนวทาง ทั้งนี้เพราะการรับรู้ภาษาภาพ เกิดจากการมองเห็นด้วยตา จากนั้นไปผ่านการประมวลผลของสมองและจิตใจ ทำให้เกิดการรับรู้และ ทำความเข้าใจ เป็นการแปลความหมายของใครของมัน ซึ่งการรับรู้ของแต่ละคนขึ้นอยู่กับประสบการณ์ การฝึกฝน การได้เห็นและการสังเกตผลงานศิลปะ การสร้างความเข้าใจภาษาภาพ ก็เช่นเดียวกับ การฝึกฟัง ฝึกพูดภาษาอังกฤษ ถ้าได้ฝึกฟัง ฝึกพูดบ่อยๆ  ก็ทำให้สามารถฟังได้อย่างชัดเจนถูกต้องและ พูดได้อย่างคล่องแคล่วนั่นเอง
     ดังนั้นในการแปลความหมายของภาษาภาพจะต้องเรียนรู้ ฝึกทักษะทางการรับรู้ภาษาภาพ ที่ประกอบด้วยส่วนมูลฐานทางศิลปะและหลักการทางศิลปะ

 

ส่วนมูลฐานทางศิลปะ
            
     ส่วนมูลฐานทางศิลปะ (Elements of Art) เป็นคุณลักษณะภายนอกของวัตถุที่สามารถรับรู้ได้ จากการเห็น  เช่น เส้น รูปร่างรูปทรง สี พื้นผิว แสงและเงา เป็นต้น ซึ่งในทางศิลปะถือว่า ส่วนมูลฐาน ทางศิลปะเป็นเสมือนเครื่องมือที่จะนำมาสร้างงานศิลปะ หากนำมาเปรียบเทียบกับภาษาเขียนแล้ว ก็สามารถเทียบส่วนมูลฐานทางศิลปะได้เป็นพยัญชนะ สระ ที่ต้องนำมาประสมกัน เป็นคำ และ ประกอบกันเป็นประโยค เพื่อใช้สื่อความหมาย  ซึ่งมีรายละเอียดพอสังเขป ดังนี้
     1. เส้น (Line) คือสิ่งที่ไม่มีความกว้าง มีแต่ความยาว  มี 1 มิติ (Dimension) เป็นองค์ประกอบ สำคัญของภาษาภาพ  เส้นให้ความรู้สึกทางอารมณ์และจิตใจแก่ผู้ดู เป็นส่วนมูลฐานที่สำคัญที่สุด เป็นแกนของทัศนศิลป์ทุกแขนง เป็นพื้นฐานของทุกสิ่งในจักรวาล เส้นแสดงความรู้สึกได้ทั้งตัวมันเอง และด้วยการสร้างเป็นรูปร่างต่างๆ ดังเช่น เส้นตรงให้ความรู้สึกแข็งแรง แน่นอน หยุดนิ่ง ถูกต้อง ตรง เข้มแข็ง ไม่ประนีประนอม เด็ดเดี่ยว ให้ความรู้สึกหยาบ และการเอาชนะ ส่วนเส้นโค้งให้ความรู้สึก เคลื่อนไหว ลื่นไหล ต่อเนื่อง สุภาพอ่อนโยน นุ่มนวล หมุนเวียน คลี่คลายหรือเติบโตเป็นเส้นโค้ง ที่ขยายตัวออกไม่มีจุดจบเมื่อมองจากภายในออกมา แต่ถ้ามองจากภายนอกเข้าไปจะให้ความรู้สึก ที่ไม่สิ้นสุดของพลังเคลื่อนไหว (สุชาติ เถาทอง, 2536:114-120)
     2. สี (Color) คือ การรับรู้ของประสาทสัมผัสที่เร้าจิตของมนุษย์ให้เกิดอาการตอบโต้ต่อพลัง คลื่นแสงบางชนิดกระตุ้นระบบกลไกการทำงานของสายตา เมื่อแสงกระทบระนาบผิวของวัตถุจะ สะท้อนคลื่นแสงบางส่วน ซึ่งมีความยาวคลื่นแตกต่างกันตามชนิดของระนาบผิววัตถุนั้นๆ แล้วดูดซับ คลื่นแสงที่เหลือ ก็จะทำให้บุคคลนั้นรับรู้สีของสิ่งต่างๆ (มะลิฉัตร เอื้ออานันท์, 2545:122)
     เนื่องจากสีมีอิทธิพลต่อมนุษย์เป็นอย่างมาก นักออกแบบและศิลปินมักใช้สีแทน ความหมาย ในการสร้างสรรค์ ดังเช่น สีแดงเป็นสีแห่งความกล้าหาญ ตื่นเต้น อันตราย และ กระตุ้นสมอง สีเหลือง เป็นสีแห่งความเบิกบาน เร้าอารมณ์ และ เรียกร้องความสนใจ สีน้ำเงินเป็น ตัวแทนของความเย็น ความเวิ้งว้าง กว้างขวาง มั่นคง โดดเดี่ยว และเป็นสัญลักษณ์ของ ความกล้าหาญ ความมีสุขภาพดี ความมีการศึกษา สีเขียว เป็นสีแห่งสันติสุข ความเจริญเติบโต มีชีวิตชีวา มีพลัง มีความสุข ความหวัง ความซื่อสัตย์ เป็นต้น
     3. รูปร่างและรูปทรง (Shape and  Form) รูปร่าง คือสิ่งที่มีความกว้าง และความยาว มี 2 มิติ มีลักษณะเป็นรูปแบนๆ ส่วนรูปทรงมีความกว้าง ความยาว และความหนา มี 3 มิติ รูปทรงที่เป็น แท่งตัน ไม่โปร่ง เรียกว่า “มวล” (Mass) ส่วนรูปทรงที่ภายในโปร่ง ไม่ทึบ เรียกว่า “ปริมาตร” (Volume) ถ้าระบายเงาลงไป ในรูปร่าง เพื่อแสดงให้เห็นถึงการตกทอดของแสงและเกิดเงาขึ้น จะเป็นรูปทรงทันที (มาโนช กงกะนันท์, 2549:69) มีทั้งรูปทรงทางเรขาคณิตและรูปทรงอิสระ 
 4. แสงและเงา (Light and Shade) เป็นส่วนมูลฐานทางศิลปะที่อยู่คู่กัน แสงเมื่อส่องกระทบ กับวัตถุจะทำให้เกิดเงา แสงและเงาเป็นตัวกำหนดระดับของค่าน้ำหนักความเข้มของเงาจะขึ้นอยู่กับ ความเข้มของแสงในบริเวณที่มีแสงสว่างมากเงาจะเข้มขึ้น ส่วนในบริเวณที่มีแสงสว่างน้อยเงาจะ ไม่ชัดเจน ถ้าหากบริเวณใดไม่มีแสงสว่างก็จะไม่มีเงา เงานั้นจะอยู่ตรงข้ามกับแสงเสมอ
     5. พื้นผิว (Texture) ใช้เรียกลักษณะของบริเวณผิวหน้าของสิ่งต่างๆ ที่เมื่อสัมผัสแล้ว สามารถรับรู้ได้ว่ามีลักษณะอย่างไร คือรู้ว่า หยาบ ขรุขระ เรียบ มัน ด้าน เนียน สาก เป็นต้น แบ่ง ออกเป็น 2 ประเภท คือ พื้นผิวที่สัมผัสได้ด้วยมือหรือกายสัมผัส เป็นลักษณะพื้นผิวที่เป็นอยู่จริงๆ ของผิวหน้า และพื้นผิวที่สัมผัสจากการมองเห็นแต่ไม่ใช่ลักษณะที่แท้จริงของผิววัสดุนั้นๆ เช่น กระดาษ ที่พิมพ์เป็นลายไม้หรือลายหินอ่อน       
     6. บริเวณว่าง (Space) องค์ประกอบของภาพที่มีคุณค่าทางความงาม มีความสมบูรณ์จะ เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ระหว่างบริเวณว่างและบริเวณที่เป็นภาพ บริเวณว่างนั้นสามารถมองเห็น กลับไปกลับมาได้ มีลักษณะคล้ายกับรูปและพื้น  (Figure & Ground) คือ เมื่อส่วนใดเป็นรูปส่วนที่เป็น พื้นก็จะเป็นบริเวณว่าง ถ้าส่วนที่เป็นบริเวณว่างเป็นรูป ส่วนที่เป็นพื้นก็จะเป็นบริเวณว่าง

 

หลักการทางศิลปะ

      หลักการทางศิลปะ (Principles of Art) คือการนำส่วนมูลฐานทางศิลปะมาจัดเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างสรรค์คุณค่าทางความงาม โดยมีความสมดุล การเน้น ความกลมกลืน ความหลากหลาย ความลดหลั่น การเคลื่อนไหว จังหวะและสัดส่วน หลักการทางศิลปะก็เปรียบเสมือนหลักภาษา หรือไวยกรณ์ของภาษาภาพนั่นเอง  โดยต้องนำส่วนมูลฐานทางศิลปะที่เปรียบเสมือนเป็นพยัญชนะ สระ มาจัดเพื่อสื่อสารเรื่องราว แนวคิด ความหมาย และจินตนาการ สร้างสรรค์ขึ้นเป็นผลงานศิลปะ  หลักการทางศิลปะดังกล่าวมีรายละเอียดพอสังเขป ดังนี้
      1. ดุลยภาพ (Balance) หมายถึง ความพอเหมาะพอดี ความสมบูรณ์ของส่วนต่างๆ ในผลงาน ศิลปะ เป็นความคงที่โดยธรรมชาติหรือความมั่นคงทางความรู้สึก ซึ่งได้ถูกนำมาใช้ควบคุมน้ำหนัก ในเชิงการเห็น มี 2 ลักษณะคือ ดุลยภาพแบบซ้ายขวาเท่ากัน (Symmetrical Balance) และดุลยภาพ แบบซ้ายขวาไม่เท่ากัน (Asymmetrical Balance)
      2. การเน้น (Emphasis) คือ การสร้างลักษณะเด่นในงานศิลปะ โดยนำส่วนมูลฐานทางศิลปะ มาจัดวางทำให้บริเวณใดบริเวณหนึ่งในผลงานศิลปะมีความน่าสนใจ ด้วยการนำสายตาไปสู่จุด ที่ต้องการให้เห็น ซึ่งจะเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ เมื่อ บริเวณนั้นๆ มีความน่าสนใจ เรียกว่า “จุดเด่น” (Hassalt and Wagner, 1992:72)
      3. ความกลมกลืน (Harmony) เป็นการนำเอาส่วนมูลฐานทางศิลปะ เช่น เส้น รูปร่าง  รูปทรง น้ำหนัก สี และพื้นผิว มาใช้ในแต่ละส่วนของงานให้มีความกลมกลืนกัน ซึ่งแต่ละส่วนมูลฐาน ทางศิลปะที่กล่าวนี้ จะนำมาใช้ร่วมกันโดยจำกัดจำนวน เพื่อหลีกลักษณะที่ตัดกัน (สุชาติ สุทธิ, 2535:125)  
      4. ความหลากหลาย (Variety) คือ แนวทางในการผสมผสานองค์ประกอบศิลป์เข้าด้วยกัน เพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงที่ดีต่อกัน ความหลากหลายเกิดขึ้นโดยการทำให้องค์ประกอบศิลป์มีการ เปลี่ยนแปลงไม่ซ้ำเดิมไปเรื่อยๆ (Mittler, 1986:34) ศิลปินใช้ความหลากหลาย เพื่อสร้างความเร้าใจ ชวนให้ติดตาม
      5. ความลดหลั่น (Gradation) เป็นการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบศิลป์ในลักษณะค่อยๆ เปลี่ยน ตัวของมันเองไปทีละน้อย จากใหญ่ไปสู่เล็ก จากเข้มไปสู่อ่อน จากเหลี่ยมไปสู่กลม จากขรุขระ ไปสู่มันวาว ฯลฯ การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้เกิดทิศทางขึ้น ให้ความรู้สึกถึงจุดเริ่มต้นและจุดจบ (Cleaver, 1966:25) ซึ่งสอดคล้องกับ Mittler (1986:35) ที่กล่าวว่า การลดหลั่นไม่เหมือน การสร้างจุดสนใจในภาพ ซึ่งมักใช้วิธีย้ำเน้นหรือเปลี่ยนแปลงทันทีทันใด แต่การลดหลั่นเป็นเรื่องของ การค่อยๆ เปลี่ยนไป อย่างมีระเบียบ เปลี่ยนไปทีละน้อย (Step by Step Change)
     6. จังหวะ (Rhythm) หมายถึง การซ้ำที่เป็นระเบียบ จากระเบียบง่ายๆ  และซับซ้อนขึ้นเป็น รูปทรงหรือเป็นเอกภาพและมีความหมาย (ชลูด นิ่มเสมอ, 2531:148) ดังนั้นจังหวะจึงเกิดจากการเห็น ที่สายตามองส่วนประกอบของศิลปะที่ซ้ำๆ กัน ต่อเนื่องกันไปเป็นลูกโซ่หรือระหว่างช่องว่างที่มีลักษณะ โปร่งใสสลับกับรูปร่างลักษณะทึบ ซึ่งจะช่วยสร้างความรู้สึกด้านความเร็วช้า ความถี่ และความห่าง
      7. การเคลื่อนไหว (Movement) คือ การเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นจากความรู้สึกทางการเห็น ซึ่งเป็น เพียงการบ่งชี้ลักษณะท่าทางที่เกิดขึ้นในความรู้สึกด้วยการลวงตา ซึ่งมิได้เป็นการเคลื่อนที่เกิดขึ้นจริงๆ  จากส่วนมูลฐานทางศิลปะและหลักการทางศิลปะตามที่กล่าวมานั้น เป็นเสมือน พยัญชนะ สระและหลักภาษาหรือไวยกรณ์ทางภาษาภาพที่ศิลปินใช้ในการสื่อความหมาย โดยสื่อออกมาเป็น ผลงานศิลปะ เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนในภาษาภาพ ผู้เขียนจึงขอนำเสนอภาษาภาพที่ศิลปินชื่อก้อง โลกวินเซนต์ แวนโก๊ะห์ (Vincent Van Gogh) โดยใช้ภาพ “The Starry Night” หรือมีชื่อในภาษาไทยว่า “คืนที่มีดาวพราวฟ้า” มาสื่อความหมาย แนวคิด และอารมณ์ความรู้สึกของเขาเอง 

  

วินเซนต์ แวนโก๊ะห์

 

     วินเซนต์ แวนโก๊ะห์ (Vincent Van Gogh) เป็นศิลปินลัทธิโพสต์อิมเพรสชันนิสต์ (Post Impressionism) ลัทธิที่เน้นการแสดงออก ของอารมณ์ความรู้สึก ลัทธิที่ไม่ติดอยู่กับการ บันทึกภาพที่ปราศจากความรู้สึก แต่จะสร้าง โลกทัศน์ส่วนตัวของศิลปิน  
  วินเซนต์ แวนโก๊ะห์  เป็นชาวดัตช์  เกิดเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน ค.ศ. 1853 เขามีชีวิต ที่แสนอาภัพ ตลอด 10 ปีที่ประกอบอาชีพเขียน ภาพ  เขาไม่ประสบความสำเร็จเลย ในขณะที่ แวนโก๊ะห์มีชีวิตอยู่เขาขายภาพได้เพียงภาพเดียว เท่านั้นคือ ภาพ The Red Vineyard  ครั้งหนึ่งเมื่อ แวนโก๊ะห์ มีปัญหากับเพื่อนศิลปินชื่อ พอล โกแกง (Paul Gauguin) เกิดมีอาการคลุ้มคลั่งถึงกับ ตัดหูข้างซ้ายของตนเอง เขาจึงต้องเข้ารักษาใน โรงพยาบาลประสาท ในช่วงนี้เขาได้วาดภาพหลายภาพ รวมทั้งภาพคืนที่มีดาวพราวฟ้า (The Starry Night) จากนั้นเขาก็ฆ่าตัวตายเมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม ค.ศ. 1890

ภาพคืนที่มีดาวพราวฟ้า (The Starry Night )

     ภาพคืนที่มีดาวพราวฟ้า (The Starry Night) เป็นผลงานจิตรกรรม เขียนด้วยสีน้ำมันบน พื้นผ้าใบ ขนาด 73 x 92 เซนติเมตร ภาพนี้วาดขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายน ค.ศ.1889 ในขณะที่เขา พักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลประสาท Saint Paul de Mausole ในเมือง Saint-Remy ทางตอนใต้ของ ประเทศฝรั่งเศส ปัจจุบันภาพนี้จัดแสดงอยู่ที่ The Museum of Modern Art นครนิวยอร์ก ประเทศ สหรัฐอเมริกา
     ภาพคืนที่มีดาวพราวฟ้า (The Starry Night) เป็นภาษาภาพที่ใครๆ ดูแล้วก็จะรู้ว่าเป็น ภาพทิวทัศน์ตอนกลางคืนใกล้รุ่ง ที่มีหมู่ดาวท่อแสงระยิบระยับเต็มท้องฟ้า รวมทั้งดาวศุกร์ดวงใหญ่ ส่องแสงสุกปลั่งอยู่ตรงกลางค่อนไปทางซ้าย  ด้านขวาตอนบนของภาพมีพระจันทร์เสี้ยวเปล่งรัศมีเป็น วงกลม ส่วนด้านหน้าก็มีต้นไซเปรสที่บิดเบี้ยวดูเหมือนเปลวไฟสีดำสูงเสียดฟ้า ด้านซ้ายตอนล่าง เป็นกลุ่มอาคารที่อยู่อาศัยกันอย่างหนาแน่น  ตรงกลางมีโบสถ์หลังคายอดแหลมเป็นศูนย์กลางของ ชุมชน
     แต่ใครก็ตามที่ได้ศึกษาและมีความเข้าใจในส่วนมูลฐานทางศิลปะและหลักการทางศิลปะ ก็จะสามารถรับรู้และสัมผัสความงามของภาพคืนที่มีดาวพราวฟ้า (The Starry Night) ได้มากยิ่งขึ้น ซึ่งผู้เขียนขอนำเสนอภาษาภาพที่ วินเซนต์ แวนโก๊ะห์ ได้ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของเขาผ่านภาพ คืนที่มีดาวพราวฟ้า (The Starry Night) พอสังเขป ดังนี้
     1. สี  มีการใช้สีคู่ตรงข้ามคือสีเหลืองของดวงดาวและดวงจันทร์ตัดกันอย่างรุนแรงกับสีของ ท้องฟ้าตอนกลางคืน ซึ่งบรรยากาศของสีในช่วงเวลานี้ส่วนใหญ่จะเป็นสีเข้มทำให้มองเห็น สิ่งต่างๆ ได้ไม่ชัดเจนเหมือนตอนกลางวัน  จึงสามารถสร้างความรู้สึกที่คลุมเครือ เหงา โดดเดี่ยว ก่อให้เกิด จินตนาการในเรื่องราวต่างๆ ได้อย่างมากมาย  แต่บรรยากาศในภาพที่ใช้สีเหลืองของดวงจันทร์ และ จุดขาวของดวงดาวกลับสร้างความรู้สึกมีความหวัง มีเป้าหมายที่ต้องการจะบรรลุให้ได้อย่างแยบยล
      ดัง จดหมายที่เขาเขียนถึงน้องชายของเขาเกี่ยวกับภาพคืนที่มีดาวพราวฟ้า (The Starry Night) ไว้ว่า ” ไม่ว่าพวกเราจะสามารถมองเห็นชีวิตได้ทั้งหมด  หรือรู้จักเพียงโลกแห่งชีวิตหลังความตาย เท่านั้นก็ตาม  ภาพนี้ก็เกิดมีปัญหาให้ถามไถ่กันได้ไม่รู้จบสิ้น  ตัวฉันเองไม่มีความคิดสำหรับการตอบ คำถามเหล่านี้ได้มากนัก แต่การมองเห็นรูปภาพดวงดาวต่างๆ  ทำให้ฉันฝันได้เสมอ เป็นความฝันซื่อๆ ตรงไปตรงมา ว่ามันคล้ายกับจุดสีดำบนแผนที่ ซึ่งทำให้ฉันฝันไปถึงบ้านเมืองและหมู่บ้านต่างๆ ได้ แต่ฉันประหลาดใจว่า  ทำไมจุดสว่างของแสงดวงดาวบนท้องฟ้าจึงทำให้ใครๆ เข้าถึงได้น้อยกว่าจุดสีดำ บนแผนที่ประเทศฝรั่งเศสละ?  พวกเราสามารถไปถึงเมืองตาราสกง (Tarascon) นครรูออง (Ruuen) ได้โดยการเดินทางด้วยรถไฟและสามารถไปถึงดวงดาวต่างๆ ได้  โดยการเดินทางด้วยความตายเท่านั้น  ความถูกต้องแน่นอนเกี่ยวกับสิ่งที่ขบคิดกันอยู่นี้ก็คือ ตราบเท่าที่เรายังมีชีวิตอยู่  พวกเราไม่สามารถไป เยือนดวงดาวได้เลย  แต่ถ้าพวกเราตายแล้ว พวกเราก็ยังสามารถเดินทางด้วยรถไฟไปยังเมืองต่างๆ ได้  อย่างไรก็ตาม ฉันไม่เข้าใจเลยว่า ทำไม อหิวาตกโรค นิ่ว วัณโรค และมะเร็ง จึงไม่ควรมีการเดินทาง เคลื่อนที่ตามวิถีทางของโลกเบื้องบนเหมือนกับเรือเดินทะเล รถเมล์และรถไฟ มีการเดินทางเคลื่อนที่ อยู่บนโลกเบื้องล่าง ในเมื่อพวกเราตายลงแล้ว ก็จะสามารถเดินทางด้วยเท้าไปถึงความสงบสุข แห่งสมัยอดีตได้” (อัศนีย์  ชูอรุณ, 2537:7)
     2. รูปร่างรูปทรงของต้นไซเปรสที่ดูเหมือนเปลวไฟสีดำบิดเบี้ยวยามต้องลม สะท้อนอารมณ์ ที่ถูกทรมานของเขา แวนโก๊ะห์ วาดให้ต้นไซเปรสเชื่อมต่อระหว่างพื้นดินกับท้องฟ้า เปรียบดัง การเชื่อมต่อของโลกมนุษย์กับสรวงสวรรค์ ซึ่งต้นไซเปรสที่เขาวาดนี้เป็นสัญลักษณ์ของป่าช้าหรือ ความตาย เพราะสำหรับ แวนโก๊ะห์ แล้ว ความตายไม่ใช่ความร้ายกาจน่าสะพรึงกลัวแต่อย่างใด  แต่ กลับเป็นหนทางไปสู่สรวงสวรรค์และเป็นเป้าหมายที่เขาต้องการไปให้ถึง

     ดัง บทสนทนาระหว่างวินเซนต์ แวนโก๊ะห์ กับเพื่อนศิลปิน ที่ยืนยันได้ว่าเขาต้องการไป สู่สรวงสวรรค์ด้วยความตายของตนเอง
 แวนโก๊ะห์   : “ผมทนทุกข์ต่อไปไม่ไหว เลยยิงตัวเอง”
 เพื่อน  : “แวนโก๊ะห์ คุณจะไม่ตายหรอก”
 แวนโก๊ะห์   : “ถ้าอย่างนั้น ผมจะยิงตัวเองอีก!”

     รูปร่างของลม ท้องฟ้า ที่เกิดจากการรวมตัวกันของเส้น โดยใช้รอยแปรงเป็นขีดนูนหนา ด้วยสีน้ำมันมีลักษณะคล้ายกับเกลียวคลื่น ที่แสดงความเคลื่อนไหวอยู่ในความสงบนิ่งของบรรยากาศ อย่างมีพลัง

     “จะเห็นว่านอกจากรูปบ้านชนบทแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างถูกจับให้แสดงความเคลื่อนไหว วนเวียนไปกับสีอย่างเต็มที่ ลักษณะการไหลเวียนนี้มีตั้งแต่รูปดาวจรัสแสงอันเป็นสัญลักษณ์แห่ง ความหวังเรื่อยไปจนถึงรูปต้นไซเปรสที่พริ้วสะบัด นับเป็นวิธีการรวมพื้นพิภพเข้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน กับท้องฟ้าได้ทีเดียว” อัศนีย์ ชูอรุณ, 2537:6)
 
สรุป

 จากการที่มนุษย์เป็นสัตว์สังคม ไม่สามารถอยู่ตามลำพังได้ จำเป็นต้องอยู่กันเป็นกลุ่ม ซึ่งจำเป็นอยู่เองที่จะต้องมีการสื่อสารสัมพันธ์ สร้างความรู้ความเข้าใจซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดภาษา ซึ่งมีทั้งภาษาพูดและภาษาเขียน  แต่อย่างไรก็ตาม ภาษาเหล่านั้นก็ยังมีข้อจำกัน เพราะสามารถสื่อกัน ได้เฉพาะกลุ่มที่ใช้ภาษาเดียวกันเท่านั้น  แต่มนุษย์ก็มีภาษาภาพ (Visual Language) ซึ่งเป็นภาษา ที่สามารถเข้าใจร่วมกันได้ ไม่ว่าเป็นชนชาติใดหรือใช้ภาษาใด
 ภาษาภาพ เป็นพื้นฐานสำคัญของการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ ซึ่งประกอบด้วยส่วนมูลฐาน ทางศิลปะและหลักการทางศิลปะ ซึ่งศิลปินใช้เป็นสื่อในการนำเสนอเรื่องราว แนวคิด ความหมายและ คุณค่าทางสุนทรียะ
 แต่การแปลความหมายของภาษาภาพนั้น มีความแตกต่างจากภาษาเขียน  เพราะภาษาเขียน มีหลักภาษาหรือไวยกรณ์ที่ค่อนข้างตายตัว แต่ภาษาภาพไม่มีกฎเกณฑ์ที่ตายตัวแน่นอน สามารถ แปลความหมายได้มากมายหลายแนวทาง เพราะการรับรู้ภาษาภาพนั้นเกิดจากการมองเห็น ด้วยตา จากนั้นไปผ่านการประมวลผลของสมองและจิตใจ ทำให้เกิดการรับรู้และทำความเข้าใจ แปล ความหมายของใครของมัน ซึ่งการรับรู้ของแต่ละคนขึ้นอยู่กับประสบการณ์ การฝึกฝน การได้ศึกษา ผลงานและการสังเกต ดังนั้นในการแปลความหมายของภาษาภาพจะต้องฝึกทักษะทางการรับรู้ ภาษาภาพที่ประกอบด้วย ส่วนมูลฐานทางศิลปะและหลักการทางศิลปะ
 เพื่อความเข้าใจที่ชัดเจนในภาษาภาพ ผู้เขียนจึงนำเสนอภาษาภาพที่ วินเซนต์ แวนโก๊ะห์ ได้ถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกของเขาผ่านภาพคืนที่มีดาวพราวฟ้า (The Starry Night) ที่เขาสื่อถึง ความเหงา ความโดดเดี่ยว ความทุกข์ทรมาน และพลังความเคลื่อนไหวที่อยู่ในความหยุดนิ่งของ  บรรยากาศ ตลอดจนเป้าหมายที่ต้องการจะเดินทางไปสู่สรวงสวรรค์ด้วยความตาย

บรรณานุกรม

ชลูด นิ่มเสมอ. (2531). องค์ประกอบศิลป์. กรุงเทพมหานคร:ไทยวัฒนาพานิช.
มาโนช กงกะนันท์. (2549). ศิลปะการออกแบบ.นนทบุรี:โคล ฟันชั่น.
มะลิฉัตร เอื้ออานันท์. (2545). พจนานุกรมศัพท์ศิลปะ. กรุงเทพมหานคร:จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
         . (2542). ศิลปศึกษา:ความเป็นมา ปรัชญาหลักการ วิวัฒนาการด้านหลักสูตร ทฤษฎี   การเรียนการสอน และการค้นคว้าวิจัย. กรุงเทพมหานคร:จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 
สุชาติ สุทธิ. (2535). การเรียนรู้การเห็น:พื้นฐานการวิจารณ์ทัศนศิลป์. กรุงเทพมหานคร: โอเดียน สโตร์.
อัศนีย์  ชูอรุณ. ภาพประทับใจ จากอารมณ์ของฟาน ก๊อก.วารสารราชบัณฑิตยสถาน. ปีที่ 19 ฉบับที่ 2 มกราคม-มีนาคม 2537. โรงพิมพ์จุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.
Cleaver, D.G. (1966). Art : An Introduction. New York:Harcourt Brave & World.
Hassalt, T.V. and  Wagner, J. (1992). The Watercolor Fix-It Book. Cincinnati, OH:North   Light Book.
Koppen, K. (2002). Bond of Union Van  Maurits Cornelis Esher . [Online]. Available
from:http://krant.telegraaf.nl/krant/depsycholoog/teksten/psycholoog.zinnebeeld. 20010817.html.[2008, February 3].
Kouhia, R. (2005). Techniques for the Analysis of Non-linear Systems. [Online].Available from:www.users.tkk.fi/~kouhia/rese/lectio/img1.gif.[2008, February 3].
Mittler, G.A. (1986). Art in Focus. Peoria, IL:Bennett & Mcknight Publishing.
The Art World Online. (2007).  The Starry Night. [Online]. Available from:http://moma.org/collectionbrowse_results.php?criteria=O%3AAD%3AE%3A2206& page_number=1&template_id=1&sort_order=1.[2008,March 10].
Wikipedia. (2008). Self-portraits by Vincent van Gogh. [Online]. Available from:http://en. wikipedia.org/wiki/Self-portraits_by_Vincent_van_Gogh.[2008,March 10].
 .(2008). Cuneiform Script. [Online]. Available from:http://en.wikipedia.org/wiki/
Cuneiform_script. [2008,March 11].
 .(2008). Egyptian Hieroglyphs. [Online]. Available from:http://en.wikipedia.org/wiki/Egyptian hieroglyphs. [2008,March 11].

 

 

 

Leave a Reply